ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการลงทุน
เครื่องหมายหุ้นควรรู้ก่อนลงทุน


การขึ้นเครื่องหมายของหุ้นแต่ละแบบ XD XR XW XM XA มีความหมายว่าอย่างไร? ถ้าเราถือหุ้นจะมีผลอย่างไร? หลายคนเคยสงสัยหรือไม่ครับ ว่าอยู่ๆหุ้นของเราก็มีราคาลดลง พร้อมกับมีตัวอักษรแปลกๆโผล่ขึ้นมาข้างๆชื่อหุ้นของเรา วันนี้สตางค์คุงจะมาช่วยไขข้อข้องใจของเพื่อนๆเองครับว่าตัวอักษรที่โผล่มานั้นหมายถึงอะไร แล้วมีผลอย่างไรต่อคนที่ถือหุ้นอยู่ครับ โดยเบื้องต้นตลาดหลักทรัพย์ได้มีการแยกเครื่องหมายไว้ 11 แบบ แต่ผมจะขอพูดถึงเฉพาะ 5 แบบที่เราน่าจะได้เห็นกันบ่อยๆแทน ซึ่งถ้าใครอยากรู้ว่าในแต่ละเดือนจะมีหุ้นที่ขึ้นเครื่องหมายวันไหนบ้างสามารถดู

XD (Excluding Dividend)    
XD เป็นเครื่องหมายแบบที่เราจะเห็นได้บ่อยที่สุดนะครับ ซึ่งการขึ้นเครื่องหมายนี้หมายความว่า ถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้นๆในวันที่หุ้นขึ้นว่า XD เราจะไม่ได้รับเงินปันผลที่บริษัทจ่ายจากผลประกอบการในช่วงก่อนหน้านี้ สำหรับใครที่ชอบเงินปันผลก็ควรจะซื้อหุ้นก่อนขึ้น XD แต่ถ้าใครอยากหาจังหวะซื้อหุ้นในราคาที่ถูกลงก็อาจจะต้องหาจังหวะซื้อหุ้นหลักขึ้น XD เพราะโดยปรกติแล้วราคาหุ้นจะลดลงมาเท่ากับเงินปันผลที่จ่ายออกไปครับ 

XR (Excluding Right)
บริษัทในตลาดหลักทรัพย์อาจจะมีการออกหุ้นใหม่เพื่อระดมเงินทุนเพื่อไปบริหารงานหรือลงทุนต่อ โดยบริษัทจะประกาศราคาหุ้นและจำนวนหุ้นใหม่ที่จะขาย ซึ่งราคาหุ้นที่ออกใหม่นี้มักจะขายที่ราคาต่ำกว่าราคาหุ้นในตลาดฯ เป็นแรงจูงใจให้ผู้ที่ถือหุ้นอยู่เดิมใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนนี้ การขึ้น XR ก็จะหมายถึงถ้าเราซื้อหุ้นในวันที่ขึ้นเครื่องหมายนี้ เราจะไม่ได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นออกใหม่ ทำให้ราคาหุ้นมักจะปรับตัวลง เป็นโอกาสในการลงทุนเช่นกันครับ 

XW  (Excluding Warrant)
XW จะมีความคล้ายกับ XR เพียงแต่ถ้าเราซื้อหุ้นในวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XW เราจะไม่ได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหลักทรัพย์ในอนาคต (Warrants) หรือที่เพื่อนๆอาจจะเห็นชื่อหุ้นในตลาดฯตามด้วยเครื่องหมาย “–W” เช่น XYZ-W ซึ่งนั่นก็คือใบสำคัญแสดงสิทธินั่นเอง โดยเจ้า warrants นี้เราจะสามารถซื้อขายได้ในตลาดหุ้นเหมือนหุ้นสามัญทั่วไป เพียงแต่ราคาจะผันผวนตามราคาหุ้นที่ให้สิทธิซื้อ ถ้าเพื่อนๆศึกษาหุ้นและลงทุนในหุ้นที่ดี การถือ warrant ไปด้วยจะสามารถเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างมากเลยล่ะครับ

XM (Excluding Meetings)
ในแต่ละปีจะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของแต่ละบริษัท ซึ่งเป็นโอกาสให้บริษัทได้ชี้แจงการดำเนินงานและเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ซักถามข้อสงสัยต่างๆกับผู้บริหารตัวเป็นๆเลยครับ น่าสนใจมากๆ แต่ถ้าเราซื้อหุ้นที่ขึ้นเครื่องหมาย XM แปลว่าเราจะไม่มีสิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้นครับ 

XA (Excluding All)    
ในบางกรณี บริษัทในตลาดหุ้นอาจจะมีการประกาศให้เงินปันผล ให้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน หรือให้ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นพร้อมๆกัน เครื่องหมายที่จะใช้ก็จะเปลี่ยนเป็น XA แทน เพื่อแสดงว่า ผู้ที่ซื้อหุ้นในวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XA จะไม่ได้รับสิทธิทุกประเภทที่บริษัทประกาศในช่วงเวลานั้น ครับ 
SBI มีโปรแกรมอะไรให้ใช้บ้าง


ท่ี่ SBITO เราเตรียม Streaming และ eFin Stock Pick Up ให้บริการลูกค้าทุกคน สำหรับ Streaming ลูกค้าสามารถใช้ได้ทั้งใน PC, iOS และ Android และใช้งานได้ฟรีทุกฟังก์ชั่น ไม่ว่าจะเป็น Conditional Order, DCA order, Technical Chart และอื่นๆ 
การลงทุนแบบ DCA คืออะไร


การลงทุนแบบ DCA คืออะไร แล้วมันดีอย่างไร 
DCA ย่อมาจาก Dollar Cost Average เป็นการทยอยซื้อหุ้นตัวหนึ่งในจำนวนเงินที่เท่ากันอย่างสม่ำเสมอทุกงวดครับ โดยเราจะกำหนดวันที่ซื้ออย่างชัดเจนตรงกันทุกงวด แต่ละงวดเราก็จะได้จำนวนหุ้นไม่เท่ากัน เพราะราคาหุ้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ขึ้นบ้างลงบ้าง หุ้นที่เราได้มาราคาจะถัวเฉลี่ยกันไปครับ อย่าไปหวั่นไหวนะครับ เราไม่ได้โฟกัสที่ราคาหุ้น เป้าหมายหลักของเรา คือการออมสะสมหุ้นไปเรื่อยๆ เราเน้นลงทุนอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว10ปี หรือนานกว่านั้น แล้วคอยรับผลประโยชน์ในรูปเงินปันผลครับ คล้ายกับการที่เพื่อนๆไปฝากประจำกับธนาคาร ที่เราต้องฝากเงินจำนวนเท่ากันทุกงวด เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยตามที่ธนาคารกำหนดนั่นแหละครับ 

ทีนี้เรามาดูขั้นตอนการลงทุนแบบ DCA กัน
1.สำรวจการเงินของตัวเองครับ การลงทุนวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องมีเงินก้อนมากครับ ข้อดีของมนุษย์เงินเดือนคือ เรามีรายได้ประจำที่แน่นอน เราแค่ดูว่าแต่ละเดือนเรามีเงินเหลือออมเท่าไหร่ แล้วจะแบ่งมาลงทุนเท่าไหร่ โดยไม่กระทบสภาพคล่องของตัวเองครับ 

2.เลือกความถี่ในการซื้อหุ้น เค้ามีให้เลือกทั้งแบบรายเดือน และรายสัปดาห์ครับ เช่น ซื้อหุ้น A ทุกวันที่ 5 ของเดือน เดือนละ 5,000 บาท หรือ ซื้อหุ้น B ทุกวันจันทร์ สัปดาห์ละ 2,000 บาท ถ้าหากเพื่อนๆกลัวว่างวดไหนจะลืมซื้อ ใน streaming ก็มีให้เราสามารถกดคำสั่งซื้อล่วงหน้า เซ็ตไว้ตามวันที่เราต้องการได้ครับ

3.เลือกหุ้นที่เราต้องการจะลงทุน เนื่องจากวิธีนี้เป็นการลงทุนระยะยาวครับ เราควรเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดี เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว มีความสามารถในการแข่งข่นกับคู่แข่งในตลาด มีความมั่นคงทางการเงิน มีกำไรอย่างต่อเนื่อง มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และผู้บริหารมีธรรมาภิบาล ถ้าเพื่อนๆไม่มั่นใจ Settrade ก็มีโปรแกรม Back Test เพื่อจำลองผลการออมหุ้นแบบ DCA โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง ให้เพื่อนๆได้ลองศึกษากันครับ

4. รักษาวินัยทางการเงินและลงทุน ทำใจสบายๆครับ แม้ว่าบางช่วงราคาอาจจะตก ก็อย่าได้กังวลไปครับ ถ้าบริษัทมีการเติบโตที่ดี มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ ในระยะยาวมูลค่าของบริษัทก็มีแต่จะเพิ่ม ระหว่างนี้เราก็เอาเวลาไปศึกษาหุ้นตัวอื่นเพิ่มครับ พอผ่านไปสัก 1 ปีก็ตรวจเช็คสถานการณ์ของธุรกิจ ภาวะตลาดการแข่งขัน ถ้าตรวจสอบแล้วยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่ การเงินบริษัทก็ดีต่อเนื่อง เราก็ลงทุนต่อไป เมื่อเรามีรายได้เพิ่มขึ้น เราก็อาจจะเพิ่มจำนวนเงินลงทุนต่องวดในหุ้นตัวนั้น หรือเลือกกระจายความเสี่ยง โดยไปลงทุนซื้อหุ้นในอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มก็ได้ครับ

เรารู้วิธีการลงทุนแบบ DCA แล้ว คราวนี้มาดูข้อดีและประโยชน์ของการลงทุนแบบนี้กันครับ
1. มีโอกาสในการลงทุนได้ผลตอบแทนเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องมีเงินก้อน เราก็สามารถทยอยซื้อสะสมได้เรื่อยๆ
2."สร้างวินัยในการออมเงิน" เมื่อเรารู้ว่าเราจะต้องเตรียมเงินไว้สำหรับซื้อหุ้นทุกเดือน เราก็ต้องวางแผนการเงิน ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เป็นการสร้างวินัยให้ตัวเองที่ดีเยี่ยม
3. "หมดความกังวลใจ" ไม่ต้องคอยจับจังหวะตลาด ไม่ต้องแอบBoss มาเปิดหน้าจอดูราคาหุ้น สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ คือเราก็ไม่ต้องมากังวลแล้วครับว่าเวลาไหนราคาจะขึ้น เวลาไหนราคาจะลง เวลาไหนคือจุดที่ดีที่สุด เพราะกลัวจะซื้อแพง ขายถูก นั่นเองครับ
4. "ไม่เครียด" เมื่อซื้อหุ้นไปแล้ว ปรากฏว่าราคาตกลง เราก็ไม่เครียด ไม่มานั่งบ่นเสียดายครับ เพราะเราเชื่อมั่นในหุ้นที่เราลงทุนไปว่าเป็นหุ้นที่ดี สามารถสร้างผลตอบแทนให้เราได้ในระยะยาว ไม่ใช่หุ้นซิ่ง หรือหุ้นปั่น

6 เคล็ด(ไม่)ลับ ทำกำไรจากหุ้นฉบับคนไม่มีเวลาเฝ้าจอ

 
สวัสดีคร้าบเพื่อนชาวๆ SBI Thai Online วันนี้สตางค์คุงมีเคล็ดไม่ลับมาฝากเพื่อนๆ ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนหรือเก็งกำไรในตลาดหุ้น รวมถึงเพื่อนๆ ที่มีประสบการณ์อยู่ในตลาดแล้วไม่มากก็น้อย จริงๆ แล้ว รูปแบบในการลงทุนหรือเก็งกำไรในหุ้น มีอยู่มากมายหลายวิธี อาทิ การซื้อขายในวัน เก็งกำไรระยะสั้น ลงทุนระยะยาว ซึ่งแต่ละรูปแบบล้วนมีแนวทางและวิธีคิดที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่ข้อจำกัดและลักษณะนิสัยของแต่ละบุคคลด้วย สำหรับเพื่อนๆ ที่ไม่ได้มีเวลาเฝ้าติดตามนั้น ข้อจำกัดที่สำคัญ คือ เรื่องของ ‘เวลา’ ซึ่งเพื่อนๆ อาจจะสงสัยว่าในเมื่อเราไม่มีเวลาเฝ้าติดตามแล้ว เราจะยังสามารถทำกำไรจากหุ้นได้หรือไม่ ในที่นี้ สตางค์คุงอยากจะเสนอเคล็ดไม่ลับ 6 ข้อ ซึ่งเพื่อนๆ น่าจะสามารถนำไปปรับใช้เพื่อสร้างกำไรจากหุ้นในระยะยาวกันได้

1. เลือกหุ้นที่รู้ใจ
ยิ่งเราไม่มีเวลาเฝ้า เพราะฉะนั้นการเลือกซื้อหุ้นที่เราจะสามารถถือได้อย่างอุ่นใจน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งความอุ่นใจในที่นี้อาจจะมาจากหุ้นที่เราถือทำธุรกิจที่เรารู้จัก และสามารถเข้าใจได้ดี นอกจากจะทำให้เรารู้สึกสบายใจแล้ว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น เราก็จะทำความเข้าใจได้ไม่ยาก และสามารถพิจารณาถึงผลกระทบทั้งทางด้านบวกและลบที่เข้ามากระทบได้เป็นอย่างดี 

2. อยู่กับปราการที่แข็งแกร่ง
ในยุคที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หุ้นที่มีจุดแข็งซึ่งโดดเด่นออกจากผู้อื่น ก็เหมือนการมีปราการที่แข็งแกร่ง คอยปกป้องให้บริษัทสามารถเติบโตไปได้อย่างมั่นคง ในที่นี้สตางค์คุงอยากแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า ‘Why Moats Matter’ หรือในชื่อภาษาไทยคือ ‘หุ้นดีต้องมีปราการ’ ซึ่งเป็นหนังสือที่อธิบายแนวคิด Moat ที่ Warren Buffett ใช้คัดเลือกหุ้นอย่างเป็นระบบ และยังได้ให้แนวทางในการวิเคราะห์หาข้อได้เปรียบของแต่ละธุรกิจอีกด้วย

3. มองหาโอกาสเติบโต
นอกจากความมั่นคงจากจุดแข็งของหุ้นแล้ว โอกาสที่จะขยายตัวก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะมองหาเช่นกัน ซึ่งแนวทางในการคัดเลือกหุ้นที่จะเติบโตนี้ก็มีหลากหลายวิธี สำหรับวันนี้สตางค์คุงอยากจะลองแนะนำสูตรที่ชื่อว่า ‘CAN SLIM’ ซึ่งแต่ละตัวอักษร คือ หนึ่งใน 7 ของลักษณะเฉพาะที่สำคัญของหุ้นที่เป็นผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ในช่วงต้น โดยเพื่อนๆ สามารถจะหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือที่ชื่อว่า ‘How to make money in stocks’เขียนโดย William J. O’Neil นอกจากนี้ สตางค์คุงเชื่อว่าก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อหุ้นสักหนึ่งตัว เราควรจะพิจารณาให้รอบคอบ และเลือกสรรให้มากๆ ก่อนด้วย

4. เงินปันผลช่วยส่งเสริมผลกำไร
โดยทั่วไปแล้ว หลังเข้าซื้อหุ้นในแต่ละครั้ง ราคาหุ้นก็อาจจะยังไม่สะท้อนภาพอนาคตที่เราคิดไว้ออกมาในทันที และในบางครั้งก็อาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี แต่หากหุ้นที่เราถือยังสามารถรักษาระดับการทำกำไรหรือการเติบโตไว้ได้ และมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้การลงทุนของเรามีกำไรงอกเงยอย่างต่อเนื่อง

5.มองภาพระยะยาวและอดทนต่อการผันผวนระยะสั้น
บางทีการไม่มีเวลาเฝ้าติดตามตลอดเวลาอาจจะเป็นผลดีก็ได้ เพราะความผันผวนคือของคู่กันกับตลาดหุ้น โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในระยะสั้นๆ ซึ่งมักจะมีปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะไม่ได้มีนัยยะเข้ามากระทบ และสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะกระทบต่อจิตใจของเราให้อ่อนไหวไปตามด้วย บางครั้งเราอาจจะเลือกหุ้นถูกตัว แต่ก็ต้องถูกสะบัดออกไปก่อนเพียงเพราะความผันผวนเล็กๆ น้อยๆ ฉะนั้นสตางค์คุงอยากจะให้เพื่อนๆ ที่ไม่ค่อยมีเวลาเฝ้าติดตาม ลองมองหุ้นแต่ละตัวเป็นภาพใหญ่ และลองจินตนาการดูว่าอนาคตของหุ้นที่เราถือจะเป็นไปอย่างไร หากหุ้นที่เราถืออยู่ในทิศทางเดียวกับที่เราวิเคราะห์ไว้ตั้งแต่แรก เราก็ควรจะอดทนให้มูลค่าของหุ้นค่อยๆ เติบโตขึ้นไป

6.มั่นครวจเช็คสุขภาพอร์ตเมื่อมีเวลา
แม้เราจะไม่มีเวลาเฝ้า แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็ควรจะรู้ว่าสุขภาพของพอร์ตลงทุนเราเป็นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ก็เหมือนกับร่างกายของเรา ที่แม้จะทำงานอยู่ตลอด แต่ก็ควรจะได้รับการตรวจเช็คสุขภาพอยู่เป็นระยะ สำหรับเพื่อนๆ ที่งานยุ่ง ก็อาจจะลองแบ่งเวลาช่วงหลังเลิกงาน หรืออาจจะเป็นช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนใดๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อหุ้นที่เราถืออยู่ได้ และหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เพื่อนๆ ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือเตรียมแผนรับมือได้เป็นอย่างดี
 
 
การจัดพอร์ตหุ้นให้เหมาะสม

เมื่อก่อนสตางค์คุงเคยเชื่อมาตลอดว่าการลงทุนคือการเลือกหุ้นให้ถูกตัว ซื้อเมื่อราคาถูก และ ขายเมื่อราคาแพง แต่เชื่อหรือไม่ว่ายิ่งสตางค์คุงศึกษาการลงทุนมากขึ้น สตางค์คุงยิ่งรู้ว่าการเลือกหุ้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆของกิจกรรมการลงทุนทั้งหมดเท่านั้น การวางกลยุทธ์จัดพอร์ตให้เหมาะสมกลับเป็นส่วนที่มีความสำคัญยิ่งกว่า แต่คำว่า”เหมาะสม”คืออะไรละ วันนี้สตางค์คุงมีหลักการ 4 ข้อที่ช่วยในการจัดพอร์ตให้เหมาะสมกันนะครับ

ตั้งเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจน การตั้งเป้าหมายอาจฟังดูยากไปสักนิด เอาเป็นว่าลองตั้งคำถามง่ายๆกับตัวเองก่อนแล้วกันว่าเราจะเอาเงินที่ได้จากการลงทุนไปทำอะไร สตางค์คุงเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คาดหวังที่จะลงทุนเพื่อหวังว่าจะรวย ซึ่งก็เป็นเป้าหมายที่ดี เพราะเราทุกคนไม่มีใครที่ไม่อยากรวย แต่ขณะเดียวกันคำว่าอยากรวยก็เป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างกว้างเกินไป  
การวางเป้าหมายที่ดีควรมีความชัดเจนเพราะยิ่งเรามีความชัดเจนมากเท่าไหร่ยิ่งทำให้การวางแผนลงทุนง่ายขึ้นเท่านั้น   ??โดยเป้าหมายที่ดี จะต้องระบุจำนวนเงิน และระยะเวลาที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น เราจะลงทุนเพื่อมีเงินไว้ดาวน์บ้านจำนวน 3 แสนบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า พอเรารู้เป้าหมายชัดสิ่งที่ตามมาคือเราจะสามารถคำนวณได้ว่าจะต้องลงทุนเดือนละเท่าไหร่ ผลตอบแทนที่ต้องการเป็นกี่% ต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเยอะหรือน้อยเพื่อที่จะไปถึงเป้าหมาย โอกาสสำเร็จมากหรือน้อย เป็นต้น 

ข้อจำกัดในการลงทุนสามารถแบ่งได้ 2 ข้อหลักๆ คือ  
1. ระยะเวลาที่ใช้ในการลงทุน  
2. ความต้องการสภาพคล่อง

มาดูข้อจำกัดในเรื่อง ระยะเวลาที่ใช้ในการลงทุนกัน ยิ่งระยะเวลายาวเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราสามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้มากขึ้น เช่น   ??เด็กจบใหม่สามารถลงทุนในหุ้นและสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงในสัดส่วนที่มากกว่า พนักงานที่ทำงานจนใกล้เกษียณแล้ว เพราะถ้าตลาดแย่ก็ยังมีเวลาที่ให้พอร์ตสามารถฟื้นตัวได้   ??ในขณะที่กรณีของคนวัยเกษียณ พอร์ตอาจจะมีมูลค่าสูงมากและมีความจำเป็นต้องใช้เงินในช่วงเวลาอันใกล้ ทำให้ความสามารถในการรับความเสี่ยงต่ำกว่าเด็กจบใหม่ ก็ควรลดสัดส่วนในหุ้นไปลงทุนในตราสารหนี้หรือตลาดตราสารเงินที่มีความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้นต่ำกว่าเป็นต้น

มาดูข้อจำกัดในเรื่อง ความต้องการสภาพคล่อง กันนะครับ ก่อนที่จะลงทุน เราควรสำรวจตัวเองก่อนว่าเรามีความจำเป็นต้องใช้เงินในระยะเวลาอันใกล้หรือไม่ เช่นถ้าเราเป็นหนี้บัตรเครดิต ก็ควรจ่ายหนี้บัตรเครดิตก่อนที่จะลงทุน เพราะหนี้บัตรเครดิตมีอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง ถึงเราจะเอาเงินไปลงทุนก่อน ผลตอบแทนที่ได้ก็อาจจะต้องเอามาใช้จ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิตจนหมด อันนี้ต้องลองลำดับความสำคัญในการใช้เงินดีๆก่อน

เข้าใจความเสี่ยงของตลาด
ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง และความผันผวนในตลาดก็เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คำถามที่สำคัญคือเราจะบริหารความเสี่ยงยังไงให้อยู่ในระดับที่เรารับได้ การที่เราลงทุนโดยไม่รู้ระดับความเสี่ยงที่เรารับได้จะทำให้เราทำอะไรไม่ถูกเมื่อเหตุการณ์แย่ๆเกิดขึ้นจริง และจะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย สตางค์คุงแนะนำว่าควรศึกษาพฤติกรรมของสินทรัพย์แต่ละประเภทให้เข้าใจ จะช่วยทำให้เราสามารถวางแผนรับมือกับความเสี่ยงได้ดีขึ้น เช่น อย่างน้อยเราควรเข้าใจว่าหุ้นสามารกำไรได้ปีละเป็น10เป็น100% แต่ก็สามารถขาดทุนได้ถึง 50-70% ในปีที่แย่ ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่าในช่วงเวลาที่แย่เราจะยังตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลหรือเปล่า หรือถ้าเรารับความเสี่ยงขนาดนั้นไม่ไหว เราควรจะลดความเสี่ยงโดยกระจายการลงทุนไปที่สินทรัพย์ประเภทอื่นหรือไม่ การที่เราเลือกที่จะกระจายสัดส่วนการลงทุนบางส่วนไปที่ตราสารหนี้ หรือ ทองคำก็เป็นแผนที่ช่วยลดความเสี่ยงได้มาก โดยที่ผลตอบแทนเฉลี่ยลดลงไม่มาก และช่วยลดการใช้อารมณ์ในการตัดสินใจในช่วงทีตลาดแย่ด้วย

ปรับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์อยู่เสมอ คำว่าปรับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์ในที่นี้เราจะไม่ได้เน้นให้ปรับพอร์ตการลงทุนทุกครั้งที่ได้ยินข่าวอะไรมา แต่การปรับพอร์ตที่ดีควรจะทำเมื่อไหร่บ้าง ตามมาดูกันเลย

ปรับพอร์ตเมื่อเป้าหมายของเรามีการเปลี่ยนแปลง เช่น เมื่อเรามีความก้าวหน้าในหน้าที่การเงินและได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้น ทำให้มีเงินเหลือที่สามารถไปลงทุนได้มากขึ้น หรือ สมมติเราสภาวะตลาดเอื้ออำนวยทำให้เราบรรลุเป้าหมายใหญ่ๆได้เร็วกว่ากำหนด เช่น ผ่อนบ้านหมดเร็วกว่ากำหนด พอร์ตของเราก็สามารถปรับให้มีความยืดหยุ่นได้มากขึ้นตามภาระที่ลดลงแล้วนั่นเอง 

กำหนดระยะเวลาการทบทวนพอร์ตการลงทุนให้มีความถี่ที่เหมาะสม (รายเดือน/รายไตรมาส/รายปี) ให้เรายังสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์พอร์ตได้ทันท่วงที ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรจะรบกวนเวลาในการใช้ชีวิตด้านอื่นมากเกินไป 

การลงทุนเปรียบเหมือนการวิ่งมาราธอน ที่ไม่ได้เน้นที่ความรวดเร็วในระยะสั้น แต่เน้นความสม่ำเสมอและความอดทนเพื่อไปถึงจุดหมายที่วางไว้ในระยะยาว การสร้างหรือพัฒนาพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายของตัวเองจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งกว่าการพยายามที่จะเอาชนะคนอื่น เนื่องจากสถิติ หรือกรณีศึกษาด้านการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก มักระบุไปในทางเดียวกันคือนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ จะมีแผนการลงทุนและการจัดพอร์ตที่เหมาะสมที่สามารถใช้ได้ในระยะยาวนั่นเอง
เอาตัวรอดอย่างไรเมื่อตลาดหุ้นปรับฐาน
ซื้อหุ้นตัวแรกเลือกอย่างไรดี
มีเงินเท่าไหร่ถึงเล่นหุ้นได้
เลือก Warrant อย่างไร ไม่ให้ Worry


เพื่อนๆเคยสงสัยหรือเปล่าครับว่าทำไมบางทีชื่อหุ้นที่เรากำลังสนใจอยู่ถึงมีตัวอักษร “-W ” มาต่อท้ายด้วย แล้วมันคืออะไร? เหมือนหุ้นรึเปล่า? ทำไมราคาถึงต่างกัน? จริงๆแล้วการที่ชื่อหุ้นมี “-W ” ต่อท้ายนั้นคือใบสำคัญแสดงสิทธิของหุ้นตัวนั้นๆ หรือที่เรียกกันว่า “Warrant” นั่นเองครับ ตามสตางค์คุงมาดูกันครับว่า Warrant คืออะไร และมีวิธีเลือกยังไงครับ

Warrant คืออะไร?
Warrant คือ ใบแสดงสิทธิที่จะให้สิทธิผู้ถือในการซื้อหุ้นที่ราคาและจำนวนที่บริษัทประกาศ โดยจะต้องใช้สิทธิภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ยกตัวอย่างเช่น SIRI-W2 เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะให้สิทธิซื้อหุ้น SIRI (หรือเรียกกันว่าหุ้นแม่) ในราคา 2.5 บาทต่อหุ้น มีอัตราการใช้สิทธิ 1:1 หมายถึง SIRI-W2 จำนวน 1 หน่วยสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้น SIRI ได้ 1 หุ้น ซึ่งทางบริษัทได้ระบุระยะเวลาการใช้สิทธิไว้ 3 ปี และจะครบกำหนดในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 โดยผู้ถือ SIRI-W2 สามารถใช้สิทธิได้ทุกวันทำการสุดท้ายของทุกๆสิ้นไตรมาส โดยสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเมื่อเราได้รับ Warrant หรือสนใจจะซื้อ Warrant มีอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลยคร้าบบ 

ราคาใช้สิทธื
ราคาใช้สิทธิเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อราคา Warrant ถ้าราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นต่ำกว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่ ณ ปัจจุบัน ตัว warrant เองก็จะมีค่า(In the money) เพราะนักลงทุนสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นในราคาถูก และไปขายในตลาดหุ้นที่ราคาแพงได้ ในทางกลับกันถ้าราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นสูงกว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่ ณ ปัจจุบัน(Out of the money) ก็จะไม่จูงใจให้คนใช้สิทธิ และตัดสินใจขาย warrant เมื่อเข้าใกล้วันหมดอายุ ทำให้มูลค่าของ warrant มีแนวโน้มลดต่ำลง และกลายเป็น 0 นั่นเองครับ 

อัตราการใช้สิทธิ
ที่ 1:1 หมายถึง 1 warrant สามารถซื้อหุ้นแม่ได้ 1 หุ้น ทำให้เราสามารถคำนวณได้คร่าวๆว่าราคาของ warrant น่าจะเท่ากับส่วนต่างของราคาใช้สิทธิ และราคาหุ้นในตลาดฯ เช่น สมมุติราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นXYZ อยู่ที่หุ้นละ 3 บาท แต่ราคาหุ้นแม่ซื้อขายกันในตลาดหุ้นที่ราคา 5 บาท เพราะฉะนั้นราคา XYZ-W ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 บาทครับ 

อายุของ Warrant
บริษัทที่ออก warrant จะระบุอายุเป็นช่วงเวลาหลังจากวันที่มีการเสนอขาย เช่น 3ปี 4ปี หรือ 5ปี ถ้าระยะเวลาหมดอายุของ warrant ยังมีเหลืออยู่อีกค่อนข้างนาน ย่อมมีความเป็นไปได้ที่ราคาหุ้นแม่มีโอกาสขึ้นไปต่อได้สูง นักลงทุนอาจจะเลือกเก็งกำไรใน warrant ทำให้ราคา warrant นั้นมีการซื้อขายที่ราคาสูงกว่าส่วนต่างของราคาใช้สิทธิซื้อและราคาหุ้นในตลาดหุ้น หรือที่เรียกกันว่าซื้อขายที่ราคา “Premium” นั่นเอง ในทางกลับกัน ถ้า warrant ซื้อขายในราคาที่ต่ำกว่าส่วนต่างของราคาใช้สิทธิและราคาหุ้นในตลาดหุ้นก็จะเรียกว่าซื้อขายที่ราคา “Discount” 

ระยะเวลาแจ้งความจำนงใช้สิทธิ
แต่ละบริษัทจะมีช่วงเวลาให้นักลงทุนแจ้งว่าต้องการใช้สิทธิซื้อหุ้นตามที่ระบุไว้ในใบสำคัญแสดงสิทธิที่ไม่ตรงกัน อาจจะให้แจ้งทุกสิ้นไตรมาส หรือสิ้นปี นักลงทุนที่ถือ warrant ควรจะศึกษารายละเอียดก่อนเพื่อที่จะได้ใช้สิทธิได้ทันในช่วงระยะเวลาที่ต้องการครับ 

ราคาของ Warrant
จากที่อธิบายไปก่อนหน้านี้ว่าราคาของ warrant มักจะเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาใช้สิทธิซื้อและราคาหุ้นในตลาด ซึ่งทำให้โดยทั่วไป warrant จะมีราคาต่ำกว่าหุ้นแม่ค่อนข้างมาก บางทีหุ้นแม่ราคา 40 แต่ warrant อาจจะราคาเพียงแค่ 3 หรือ 4 บาท ทำให้ warrant กลายเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ใช้เงินน้อยกว่าลงทุนในหุ้นแม่ แต่ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าเช่นกันเพราะราคาจะมีความผันผวนมากกว่า และมีวันหมดอายุ ถ้าเพื่อนๆสนใจลงทุนอาจจะต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและเตรียมใจไว้ให้ดีนะครับ 
สรุปภาพรวมการลงทุนปี 61
สรุปภาพรวมการลงทุนปี 2561 ปีนี้จะรับมืออย่างไร หุ้นไหนยังลงทุนได้อยู่ ?


ปี 2561 ที่ผ่านมาเป็นปีที่มีเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นเยอะมาก สร้างความท้าทายให้กับนักลงทุนทุกคนไม่ว่าจะเป็นมือเก๋าหรือมือใหม่ ในบทความนี้จะมาสรุปเหตุการณ์และพูดคุยกันว่า ในปี 2562 นี้จะรับมือกับการลงทุนกันอย่างไร

SET และเหตุการณ์สำคัญในปี 2561 ที่ผ่านมา




เมื่อเรามาดูดัชนีตลาดหลักทรัพย์ย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นได้ว่า SET มีการปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในภาพรวมของการลงทุนนั้นในปี 2561 (หรือ 2018) นั้น ดัชนีมีความผันผวนและในระหว่างปีนั้นมีแนวโน้มเป็นขาลง 

สอดคล้องกับตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือ GDP ที่ครึ่งปีแรกมีการขยายตัวได้ดีจากการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่พอมาครึ่งปีหลังประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมถึงผลกระทบจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอีกด้วย


หุ้นไหนที่ยังเติบโตอยู่

ถึงแม้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์นั้นมีความผันผวนมาก ในปีที่ผ่านมามีราคาขึ้นๆ ลงๆ ก็ตาม แต่ข้อดีของช่วงเวลาแบบนี้ก็คือเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เกิด “โอกาส” กับนักลงทุนให้สามารถซื้อหุ้นที่ดีในราคาที่ถูกลงได้ สามารถสะสมหุ้นเก็บเอาไว้ในระยะยาว ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ มุมมองและการรับความเสี่ยงของแต่ละคน

ถ้ายังไม่เชื่อลองมาดูข้อมูลหุ้นในตลาดหลักทรัพย์กันก่อน เมื่อดูจากงบการเงินแล้วก็ยังมีบริษัทที่อยู่ในเทรนด์การเติบโตที่ดีด้วยเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น

AOT 
จะเห็นได้ว่ารายได้รวมและกำไรสุทธิมีการเติบโตมาตลอดแบบไม่มีตก และในปี 2561 กำไร 9 เดือนก็มากกว่าปี 2560 ทั้งปี การที่นักท่องเที่ยวจีนลดลงอาจจะเป็นปัญหาระยะสั้นเพราะประเทศไทยก็ยังเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ราคาหุ้นโดยเฉลี่ยในปี 2561 ที่ผ่านมาราคาถูกลงจากปีที่แล้ว แปลว่าเป็นหุ้นที่สร้างกำไรมากขึ้น แต่ซื้อได้ในราคาถูกลง




CPALL
หุ้นนี้เป็นหุ้นพื้นฐานที่ทุกคนรู้จักกันดีและเป็นหุ้นที่ทุกคนคุ้นเคยในการใช้บริการ จะเห็นได้ว่ารายได้และกำไรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 - 2560




หากเราเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันของ 9 เดือนระหว่าง ปี 2560 และ 2561 จะเห็นได้ว่ายอดขายและกำไรก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ถือเป็นหุ้นที่เติบโตดี แถมราคาในปี 2561 ก็ถูกลงจากปี 2560 อีกด้วย


 
กลยุทธ์ที่แนะนำในการลงทุน
หลังจากที่วิเคราะห์ในเรื่องพื้นฐานทั้งในแง่ของธุรกิจการแข่งขันและผลการดำเนินงานที่แสดงตัวเลขออกมาจากงบการเงิน ก็จะพอประเมินได้ว่าหุ้นตัวไหนน่าจะรับความเสี่ยงในการลงทุนและนำเงินไปลงทุนในระยะยาว ซึ่งสามารถใช้กลยุทธ์การลงทุนได้ 2 รูปแบบ คือ
 
1. Dollar Cost Average (DCA) กำหนดเงินลงทุนในแต่ละเดือนไปลงทุนในหุ้นที่เป็นเป้าหมายโดยไม่ต้องสนใจราคาที่ซื้อขายในตลาด อาศัยการสะสมหุ้นอย่างมีวินัย ซึ่งในระยะยาวจะได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ดี
2. Market Timing วิธีการนี้จะนำมาใช้เมื่อเห็นว่าราคาหุ้นมีการปรับตัวลงเยอะมาก ราคาที่ซื้อคุ้มค่าต่อโอกาสที่หุ้นจะสร้างผลตอบแทนในอนาคตได้ ซึ่งสามารถใช้อัตราส่วนทางการเงินในการพิจารณาเช่น P/E หรือ P/BV Ratio เมื่อใดที่หุ้นดีมีราคาถูกลงผิดปกติ นั่นคือจังหวะซื้อที่ดีนั่นเอง
 
เหตุการณ์ในปี 2561 แม้หุ้นจะผันผวนและราคาลดลงเยอะมาก แต่ถ้ามาดูหุ้นรายตัวก็จะเห็นได้ว่ายังมีหุ้นที่มีโอกาสลงทุนอยู่ ดังนั้นเมื่อเห็นหุ้นดีและราคาถูกด้วย อาจเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่น่าซื้อที่สุดก็ได้ 

อ้างอิง
https://www.set.or.th/
 
ศัพท์หุ้นควรรู้ (Vol 1.)


วันนี้สตางค์คุงขอนำเสนอศัพท์ในหมวด “ปอด” กันครับ ปอดในทีนี้ ไม่ได้หมายถึงปอดที่เป็นอวัยวะใช้หายใจนะครับ แต่คำว่าปอดในวงการหุ้น มาจากคำว่า พอร์ตฟอลิโอ (Portfolio) ที่เพี้ยนมาเป็นสำเนียงๆไทยๆ กลายเป็น ปอด เอาหล่ะครับเรามาดูศัพท์บอกสถานะของปอดเรากันดีกว่าครับ ตามมาเลยยย


"ปอดแดง" : ก็คงจะพอเดากันได้ไม่ยากใช่ไหมครับ สำหรับคำว่าปอดแดง หรือ พอร์ตแดง ก็เท่ากับ พอร์ตของเรากำลังขาดทุนอยู่ครับ โดยพอร์ตของเราอาจจะมีหุ้นทั้งตัวที่ได้กำไรหรือขาดทุนคละกันไป แต่ถ้าผลกำไรโดยรวมของพอร์ตคือขาดทุน ก็แสดงว่า พอร์ตของเราแดงครับ 


"ปอดเขียว" : มาที่คำที่สอง ก็ตรงกันข้ามกับ ปอดแดงเลยครับ ก็คือปอดเขียวหรือพอร์ตโดยรวมของเรามีกำไร ถ้าเห็นปอดเขียวเมื่อไหร่ก็ชื่นใจแล้วครับ 


"ปอดแหก" : คิดถึงสภาพปอดแหกสิครับ ทรมานแสนสาหัส ก็เหมือนกันพอร์ตหุ้นของคนอื่น (หรืออาจจะของเรา) ที่ขาดทุนย่อยยับ ดังนั้น ปอดแหกจึงหมายถึง พอร์ตขาดทุนอย่างหนักนั่นเอง 


"ล้างปอด" : การล้างคือการทำให้สะอาดครับ เพราะฉะนั้นการล้างปอดจึงหมายถึงการเทขายหุ้นออกไปจนหมดพอร์ต เหมือนว่าจะดีนะครับ แต่การล้างปอดนี้ โดยส่วนใหญ่นักลงทุนทั่วไปจะทำก็ต่อเมื่อขาดทุนครับ เพื่อเป็นการ Cut loss แต่ถ้าหากนักลงทุนรายใหญ่ๆทำการล้างปอด แสดงว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณบางอย่างที่ไม่ดีมาครับ ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์นี้ นักลงทุนอย่างเราก็เฝ้าดูระมัดระวังกันหน่อยนะครับ 


"เต็มปอด" : คำนี้นักลงทุนมือใหม่ อย่างเราๆ ที่กำลังทรัพย์ยังไม่มากพอ ก็จะได้เจอกันบ่อยๆครับ โดย เต็มปอด หมายถึง การซื้อหุ้นด้วยเงินทั้งหมดที่มีในพอร์ตครับ เช่น มีเงินอยู่ 10,000 บาท ซื้อหุ้น A และB ไป รวมกัน 10,000 บาท เท่ากับว่า เราซื้อหุ้นจนเต็มปอดแล้ว 

 
สร้างวินัยด้วยการลงทุนด้วย DCA

เพื่อนๆนักลงทุนหลายคนที่มีโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นอาจเคยเจอกับปัญหาการลงทุนแบบนี้กันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็น ??รู้ทั้งรู้ว่าในระยะยาวหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด แต่ยังไง้ยังไงก็ไม่กล้าลงทุน เพราะกลัวความเสี่ยงมากเกินไป กลัวตลาดขาลงแล้วจะทำอะไรไม่ถูก มัวแต่รอเลยไม่ได้ลงทุนซะที ??Sensitive กับราคาหุ้นมาก ขาดทุนทีก็ออกจากตลาดที พอเห็นคนทำกำไรจากหุ้นได้ก็กลับเข้ามาลงทุนใหม่ เข้าๆออกๆ จนไม่สามารถลงทุนอย่างต่อเนื่องได้ ทำให้ Portfolioเสียไปหมด ??ไม่ชอบการตัดสินใจบ่อยๆ รู้สึกหนักใจทุกครั้งที่ได้รับข่าวสารเกี่ยวกับหุ้นที่ถือแล้วต้องตัดสินใจว่าจะต้อง take actionยังไง วันนี้เราจะมาเสนอเครื่องมือที่ช่วยลดปัญหาที่กล่าวมาด้านข้างต้น ด้วยวิธีการสร้างระบบการลงทุนขึ้นมาที่เรียกว่า การออมหุ้นอย่างสม่ำเสมอหรือวิธีDollar Cost Average นั่นเอง


Dollar Cost Average คืออะไร?ถ้าตอบแบบภาษาบ้านๆก็คือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย นั่นแหละครับ แต่ถ้าตามแบบวิชาการก็คือเป็นวิธีในการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนแบบสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันทุกงวด ตามความถี่ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (รายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส) โดยจะไม่คาดการณ์ภาวะของตลาด และเราจะใช้เครื่องมือคือ หุ้นหรือกองทุนรวมเป็นเครื่องมือในการลงทุน


โดย DCA เป็นระบบที่ออกแบบเพื่อให้ลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ สร้างวินัยการออม และ ที่สำคัญคือที่สุดคือลดการคาดการณ์ภาวะตลาดซึ่งจะช่วยลดการใช้อารมณ์ในการลงทุนอันเป็นสาเหตุของความผิดพลาดนั่นเอง นอกจากนี้ DCA ยังช่วยลดความถี่ที่ต้องตัดสินใจ ทำให้เราสามารถโฟกัสกับเป้าหมายการลงทุนของเราได้ง่ายยิ่งขึ้น


แต่เดี๋ยวๆ แค่ลงทุนเท่ากันไปทุกเดือน แล้วผลตอบแทนที่ได้จะเป็นยังไงละ? เราจะพาไปดูตัวอย่างจริงๆกันเลยดีกว่าว่าในอดีตการลงทุนแบบDCA ให้ผลลัพธ์ยังไง และตอบโจทย์การลงทุนของเราหรือไม่นะคร๊าบ
ถ้าสมมติว่าเราลงทุน 5, 000บาท ในหุ้น (ใช้ SET 100 เป็นตัวแทนหุ้นของตลาดไทย) สม่ำเสมอทุกๆเดือนตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 2007 ถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2017 ช่วงระยะเวลาการลงทุน 10ปี โดยที่เราไม่ต้องสนใจภาวะตลาด และไม่หนีออกจากตลาดในช่วงวิกฤต Subprime (ปี ค.ศ. 2008) มูลค่าPortfolioของเรา จะเติบโตถึงหลักล้านบาท หรือ เท่ากับ 1,108,965 บาท จากต้นทุนทั้งหมด 600,000 คิดเป็นกำไรทั้งหมด 84% หรือถ้าคิดเป็น IRR จะอยู่ที่ประมาณ 11.98%ต่อปี จะเห็นได้ว่าด้วยวิธี DCA เราสามารถทำให้เงินลงทุนไม่กี่พันบาทในแต่ละเดือน เติบโตเป็นเงินหลักล้านได้!! โดยที่เรายังไม่ต้องใช้ความรู้ในการลงทุนใดๆเป็นพิเศษ แค่อาศัยวินัยในการลงทุน และความเข้าใจพลังของการลงทุนในระยะยาวเท่านั้นเอง!


อย่างไรก็ตาม ในการลงทุนแบบ DCA ถึงแม้ดูว่าจะเป็นวิธีการลงทุนที่ดีมากๆ แต่ยังไงก็ยังมีมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้


1. คุณภาพในการเลือกหุ้นยังคงมีความสำคัญ : วิธีการลงทุนแบบ DCA เป็นการลงทุนโดยมีสมมติฐานสำคัญคือราคาหุ้นสามารถผันผวนอย่างรุนแรงได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวยาวราคาสินทรัพย์ที่เราเลือกลงทุน ต้องปรับตัวขึ้น เพราะฉะนั้นการเลือกหุ้นจะต้องเลือกหุ้นที่ต้องมีพื้นฐานแข็งแกร่งระดับหนึ่ง ตัวคัดกรองที่ง่ายสุดคือ การเลือกหุ้นทีมีMarket CAP ขนาดใหญ่หรือ หุ้นที่อยู่ในSET 50


2. ต้องมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานเพียงพอ: ด้วยNature ของหุ้นเองจะเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนรุนแรงในระยะสั้นแต่เติบโตได้ดีในระยะยาว ระยะเวลาในการถือจึงมีความสำคัญมาก ผมขอยกตัวอย่างช่วงที่แย่ที่สุดของของการใช้กลยุทธ์DCAเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1993 – 1998 ซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนีSET Indexทะยานถึงจุดสูงสุดที่ 1,753.73 จุดและค่อยๆตกต่ำลงจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ถ้าเราลงทุนด้วยวิธี DCA ในช่วง5ปีดังกล่าว IRR หรือผ... ดูเพิ่มเติม


3. การกระจายความเสี่ยงยังคงมีความสำคัญ:ส่วนการลงทุนแบบ DCA ในหุ้นเพียงตัวเดียวถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เพราะถ้าบริษัทผิดพลาดหรือเจ๊งไป นอกจากผลตอบแทนจะไม่ได้แล้ว เงินต้นจะกลายเป็น 0 อีก ทางเราขอแนะนำว่า ถ้าจะ DCA แบบหุ้นรายตัว ควรมีการคัดกรองหุ้นอย่างดีและควรมีหุ้นอย่างน้อย 4-5 ตัวขึ้นไป กระจายไปในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันไปเพื่อลดความเสี่ยง


โดยสรุป ประโยชน์ของDCA ให้คุณได้ คือ ผลตอบแทนระยะยาวค่อนข้างดี และการวางแผนการลงทุนแบบเป็นระบบระเบียบซึ่งจะเป็นบันไดสำคัญไปสู่ความสำเร็จด้านการวางแผนชีวิตด้านการเงินได้ นอกจากนี้DCAยังมีประโยชน์แอบแฝงที่ดูเล็กน้อย แต่ก็สำคัญไม่น้อยคือผู้ลงทุนสามารถลดเวลาที่จะต้องใช้Focusในการลงทุนในตลาดหุ้น และสามารถนำเวลาชีวิตส่วนนี้ไปอยู่กับครอบครัวหรือคนที่เรารัก หรือทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบโดย ไม่จำเป็นต้องมาเคร่งเครียดกับการลงทุนจนเกินไป เพราะการลงทุนควรจะเป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อความสุข และควรทำด้วยความสบายใจนั่นเองนะคร้าบบ

อ่านมาถึงตรงนี้สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนหุ้นอย่างสบายใจด้วยวิธี DCA ทาง SBITO ก็มีโปรแกรมการลงทุนไว้รองรับ ซึ่งลงทุนขั้นต่ำแค่เดือนละ 1,000 บาทเท่านั้นเอง  รับรองว่าเส้นทางการลงทุน อาจง่ายกว่าที่คุณคิดไว้ 
 
หุ้นที่ควรหลีกเลี่ยงในการลงทุนระยะยาว

สำหรับผู้ที่ตัดสินใจที่จะลงทุนหุ้นในระยะยาว การเลือกหุ้นจะต้องคิดให้รอบคอบ และหาเหตุผลให้ได้ว่าหุ้นที่เราซื้อนั้นคู่ควรที่จะถือในระยะยาวหรือเปล่า เพราะในตลาดหุ้นมีหุ้นหลายร้อยตัวให้เราเลือก เยอะเสียจนเป็นธรรมดาที่เราจะสับสนได้ง่ายๆดังนั้นแทนที่เราจะเข้าไปดูหุ้นทุกตัว วันนี้สตางค์คุงมีเคล็ดง่ายๆ ในการคัดกรองหุ้นบางประเภทที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ควรถือในระยะยาวออกไป เพื่อให้เราเลือกลงทุนได้ง่ายขึ้น เราไปดูวิธีคัดกรองหุ้นที่ไม่เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาวออกจากตัวเลือกของเรา พร้อมๆกันเลยนะครับ


"หุ้นปั่น" คือหุ้นที่ไม่มีพื้นฐานอะไรรองรับเช่น หุ้นที่กิจการไม่เคยมีกำไรหรืออาจจะแย่ขนาดที่ขาดทุนเป็นระยะเวลายาวนาน พวกหุ้นที่ชอบเพิ่มทุนบ่อยๆ หรือหุ้นที่มี Market Cap สูงมากกว่ามูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทมากๆ โดยหุ้นประเภทนี้จะมีราคาที่หวือหวาขึ้นลงแรงเพื่อล่อให้คนมาสนใจ เหตุผลที่ไม่ควรถือหุ้นประเภทนี้ในระยะยาวเพราะ เหมือนกับเราเอาเงินไปฝากอยู่ในกำมือของเจ้ามือ และเราไม่มีวันรู้อารมณ์ของเจ้ามือว่าวันดีคืนดีจะทำอะไรกับหุ้นของเราบ้าง บางคนอาจมั่นใจว่าถ้าเข้าออกถูกจังหวะก็สามารถหนีขาดทุนได้ แต่ถ้าอยากลงทุนระยะยาวแบบไม่เครียดและไม่ต้องนั่งเฝ้าหน้าจอทั้งวันสตางค์คุงว่าให้หนีห่างหุ้นประเภทนี้ให้ไกลดีกว่านะครับ


"หุ้นวัฐจักร" ตัวอย่างของหุ้นวัฐจักร เช่น หุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ (สินค้าที่มาตรฐานเดียวกันทั้งโลก เช่น ข้าว น้ำตาล น้ำมัน เหล็ก ฯลฯ) สินค้าโภคภัณฑ์มีความซับซ้อนสูง ความเคลื่อนไหวของราคาจะอิงกับราคาของตลาดโลกซึ่งมีความผันผวนซึ่งส่งผลให้กำไรของบริษัทไม่มีความสม่ำเสมอ และสุดท้ายก็ส่งผลให้ราคาของหุ้นมีความผันผวนตามไปด้วย หุ้นวัฐจักรจะมีรอบระยะเวลาของตัวเอง และต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจที่ค่อนข้างเฉพาะทางเกี่ยวกับวัฐจักรของสินค้านั้นๆ หุ้นวัฐจักรหลายๆตัวจะมีลักษณะวนลูป คือ กำไรจะโตได้ดีในช่วงสั้นๆซึ่งทำให้ราคาหุ้นขึ้นในลักษณะ “กระโดด”อย่างแรง แต่เมื่อสิ้นสุดวัฐจักรราคาจะตกลงมาอย่างรุนแรง ไม่ได้มีการสร้างฐานให้เติบโตได้อย่างหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งที่จะมีช่วงราคาตกต่ำแค่ชั่วคราวและฟื้นกลับมาทำกำไรได้ดีกว่าเดิมในระยะยาว


"หุ้นร้อนแรง" อาจจะเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานกิจการที่ดี บริษัทสามารถทำกำไรได้สม่ำเสมอ และมีโครงการที่จะทำให้กิจการสามารถเติบโตได้ในระยะยาว ด้วยคุณภาพที่ดีของกิจการรวมถึงภาพลักษณ์ที่(อาจจะ)ดีของกิจการก็มักจะดึงดูดให้คนมาลงทุนและผลักราคาขึ้นไปสูงๆ จนกระทั่งแพงจนเกินความเป็นจริง (สามารถสังเกตหุ้นร้อนแรงได้จากP/Eที่สูงปรี๊ด แบบว่าต้องทำกำไรกันหลายสิบปีไปจนถึงร้อยปีถึงจะคืนทุนกันเลยทีเดียว) หุ้นร้อนแรงก็เหมือนสินค้าที่คนแย่งกันซื้อในช่วงที่ป๊อบปูล่าร์ พอคนในตลาดเริ่มรับรู้ได้ว่าตัวเองได้ตั้งความคาดหวังไว้สูงกว่าความเป็นจริง ก็จะเกิดปรากฏการณ์ “ตลาดวาย” ราคาหุ้นตกแบบร่วงกราว ไม่ต่างอะไรจากหุ้นปั่นเลย


"หุ้นที่เราไม่เข้าใจ" หุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะมีบริษัทที่สามารถทำความเข้าใจลักษณะการดำเนินงานของกิจการได้ง่าย เป็นที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ธุรกิจซื้อมาขายไป ห้างสรรพสินค้า ค้าปลีก ไปจนถึงหุ้นของกิจการที่เข้าใจได้ยากอย่าง ปิโตรเคมี หรือ บริษัทสำรวจแหล่งพลังงาน ในขณะที่เราคุ้นเคยกับการเดินห้างสรรพสินค้า หรือไม่ก็ซื้อของตามร้านค้าปลีก แต่เราคงไม่ได้อยู่ดีๆจะไปเดินเล่นบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน หรือเอาหนังสือเกี่ยวกับปิโตรเคมีมาอ่านเล่นใช่มั้ยครับ? การที่เราลงทุนในกิจการที่เข้าใจยากหรือเราไม่เข้าใจจะส่งผลเสียกับเราหลายๆอย่างเช่น เราไม่สามารถเข้าใจว่ากำไรขึ้นลงเพราะอะไร เราบอกไม่ได้ว่าควรซื้อหรือขาย ตอนไหนเวลาไหน บอกไม่ได้ว่าเหตุผลในการซื้อหรือขายเพราะอะไร มันก็จะเหมือนกับการที่เราเดาสุ่มและผลลัพธ์ที่ได้ก็คงไม่แตกต่างจากการเล่นพนันนั่นเอง


"หุ้นในกิจการตะวันตกดิน" คือหุ้นในบริษัทที่ธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงถดถอย หรือสินค้ากำลังสูญเสียความนิยมเนื่องจากถูกแทรกแซงโดยสินค้าทดแทนใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ถูกผู้ผลิตเนื้อหาทางช่องทาง online ตีตลาด กิจการจะค่อยๆถดถอยลงซึ่งก็จะส่งผลให้กำไรของบริษัทลดลงในอนาคต ราคาของหุ้นจะถูกลงได้เรื่อยๆ เข้าข่ายว่าถูกแล้วก็ยังจะถูกได้อีกซึ่งก็ไม่ค่อยดีกับการลงทุนในระยะยาวเท่าไหร่ ตอนนี้เราก็มีวิธีเลือกหุ้นในการลงทุนระยะยาวกันแล้วนะครับ แต่นอกจากวิธีการคัดกรองหุ้นที่ดีแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือการอดทนในการถือหุ้นให้ได้เป็นระยะเวลาที่นานเพียงพอให้การลงทุนของเราออกดอกออกผล และที่สำคัญยิ่งกว่าคือการอดทนรอที่จะไม่ซื้อหุ้นเมื่อยังไม่ตัวเจอตัวที่ใช่ก็สำคัญไม่แพ้กันนะครับ ถ้าเรามีวินัย พยายามลงทุนตามเกณฑ์ที่เรากำหนด โดยไม่ปล่อยให้อารมณ์อยากซื้ออยากขายเพียงชั่วคราวมาทำลายกฏที่เราตั้งไว้ ความสำเร็จในการลงทุนระยะยาวก็คงจะอยู่ไม่ไกลแล้วนะครับ

วิธีการอ่านงบการเงินเบื้องต้น ตอนงบดุล

เชื่อว่านักลงทุนหลายท่านคงต้องเคยตั้งคำถามก่อนการลงทุน ว่าบริษัทที่เราจะเอาเงินไปลงทุนด้วยนี้ มีความแข็งแกร่งแค่ไหน มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งพอที่เราจะไว้ใจได้หรือเปล่า วันนี้สตางค์คุงจะพาไปดูวิธีดูฐานะทางการเงินของกิจการผ่าน รายงานทางการเงินที่เรียกว่า “งบดุล” นั่นเอง


งบดุลบอกอะไร เวลาเราเปิดงบดุลเราจะเห็นหัวข้อใหญ่อยู่ 3 หัวข้อคือ สินทรัพย์, หนี้สิน และ ส่วนของเจ้าของ 


ถ้าเราลองมองในมุมของเจ้าของกิจการตั้งแต่ตอนเริ่มตั้งกิจการ สมมติว่าเราอยากจะเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวเราก็ต้องคิดก่อนว่ากิจการของเราจะต้องมีอุปกรณ์อะไรที่ใช้ดำเนินงานบ้างใช่มั้ยครับ เราอาจจะต้องมีห้องเปล่าไว้เปิดร้าน มีอุปกรณ์หม้อตะหลิวจานชาม มีวัตถุดิบอย่างลูกชิ้น เส้นก๋วยเตี๋ยว หมูสด และต้องมีเงินสดไว้ใช้จ่ายในร้าน ที่กล่าวมาทั้งหมดเรายกรวมเป็น “สินทรัพย์” ของกิจการนั่นเอง 

แต่แน่นอนว่าจะมีสินทรัพย์ได้ ก็ต้องมีการใช้เงินซื้อใช่มั้ยครับ สมมติว่าในการเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวต้องใช้เงินทั้งหมด200,000 บาท แต่เรามีเงินอยู่กับตัวแค่ 150,000 ส่วนที่เหลือเราต้องทำยังไงครับ เราก็ต้องกู้มาอีก 50,000 บาทเพื่อใช้ประกอบกิจการ ดังนั้นเราจะเห็นว่าจากที่เล่ามา ก็เหมือนกับว่า สินทรัพย์ทั้งหมดในการดำเนินกิจการจะเกิดจาก การลงเงินส่วนตัว + กับการกู้หนี้มานั่นเอง 

นอกจากเราจะรู้แล้วว่าทรัพย์สินของกิจการมาจากแหล่งเงินทุนของใครบ้าง เรายังสามารถวิเคราะห์ ลงไปในรายละเอียดได้อีกหลายๆ แง่มุม เช่น สภาพคล่องของกิจการ ถ้าแตกรายละเอียดลงไปในฝั่งสินทรัพย์ จะสามารถแบ่งได้ว่าสินทรัพย์ที่หมุนเวียน กับ ไม่หมุนเวียน สินทรัพย์หมุนเวียนก็เช่น เงินสด ลูกหนี้ สินค้าในStock ที่สามารถหมุนเวียนเป็นเงินได้ภายในหนึ่งปี ในฝั่งหนี้สินก็เหมือนกัน ก็จะแบ่งเป็นหนี้สินหมุนเวียน และไม่หมุนเวียน 

ถ้าสินทรัพย์หมุนเวียนมีมากกว่าหนี้สินหมุนเวียนก็แสดงว่ากิจการยังพอมีสภาพคล่องในการหมุนเวียนของเงิน (เงินยังไม่ขาดมือ) แต่ทั้งนี้ต้องดูคุณภาพของสินทรัพย์หมุนเวียนประกอบการพิจารณาด้วย (เช่น ลูกหนี้การค้าอาจเป็นหนี้เสีย หรือ ไม่สามารถจ่ายเงินได้เป็นต้น) 
.
ภาระหนี้สิน เราดูว่ากิจการมีหนี้สินสูงหรือต่ำโดยเอาไปเปรียบเทียบกับ ส่วนของเจ้าของ (เอาหนี้สินหารด้วยส่วนของเจ้าของ) โดยปกติอัตราส่วนหนี้สินต่อเจ้าของจะขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการ ถ้าเป็นกิจการทั่วๆไปไม่ควรสูงเกิน 2 เท่า แต่ถ้ากิจการที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้สม่ำเสมออย่างเช่น ธุรกิจค้าปลีกก็อาจจะอนุโลมให้สูงกว่านี้ได้ หรือถ้าเป็นตามธรรมชาติของธุรกิจอย่างธนาคารที่มีการกู้ยืมเงินของคนที่นำเงินมาฝาก ไปใช้ปล่อยกู้ต่อ ก็จะมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนค่อนข้างสูงเช่นกัน

หนี้สินที่สูงเกินไปอาจก่อให้เกิดข้อกังวลหลักๆ 2 ข้อคือ 1) ภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ถ้าหนี้เยอะมากอาจะทำให้ภาระส่วนนี้สูงมากไปด้วย


2) สภาพคล่องของกิจการอาจลดลงอย่างรุนแรงเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ ทำให้ดำเนินการอะไรก็ไม่สะดวก ถ้าในกรณีที่แย่มากๆก็อาจถึงขั้นล้มละลายได้

สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญกับลูกหนี้คือ สุดท้ายแล้วลูกหนี้จะสามารถผันมาเป็นเงินได้หรือไม่ เพราะบางธุรกิจเห็นรายได้เยอะๆ แต่เป็นรายได้ที่มาจากการให้เครดิตลูกหนี้ระยะยาว หรือบางครั้งก็ขายสินค้าให้กับลูกค้าที่ไม่มีความสามารถที่จะจ่ายเงินได้ เวลาวิเคราะห์ให้ดูในหมายเหตุประกอบงบ ในส่วนของอายุลูกหนี้ ซึ่งจะบอกว่ามีลูกหนี้ค้างชำระระยะเวลายาวนานแค่ไหน ลูกหนี้ที่ค้างชำระเป็นเวลานานเยอะมั้ย มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่

สิ่งที่ต้องห่วงเกี่ยวกับสินค้าคงคลัง เช่น การเติบโตของสินค้างคงคลังกับการเติบโตของรายได้เติบโตไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ มูลค่าของสินค้าคงคลังอาจจะขึ้นหรือลงตามความนิยม หรือสภาพของสินค้า ประเภทของสินทรัพย์ที่อยู่ในสินค้าคงคลังที่สามารถเน่าเสียหรือด้อยค่าได้ง่าย เช่น อาหารสด สินค้าเทคโนโลยี พวกเครื่องประดับ ถ้าเกิดมีการบริหารจัดการไม่ดีเก็บของเก่าไว้เยอะก็อาจจะต้องขายขาดทุนได้ ต้องระวังถ้าเห็นตัวเลขสินค้าคงคลังอยู่ดีๆก็ปูดขึ้นมา เป็นยังไงกันบ้างครับกับวิธีดูงบดุลเบื้องต้น สำหรับผู้ที่สนใจะวิเคราะห์งบการเงินให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีข้อมูลที่สามารถเข้าไปอ่านได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สตางค์คุงขอให้นักลงทุนทุกคนสนุกกับการอ่านงบการเงินนะครับ
ศัพท์หุ้นควรรู้ (Vol 2.)

สวัสดีครับ กับมาพบสตางค์คุงกลับมาอีกครั้ง พร้อมคำศัพท์ใหม่ๆ มาเล่าให้เพื่อนๆฟังนะครับ ใครมีคำศัพท์ที่อยากให้สตางค์คุงหาคำตอบให้ ก็บอกกันเข้ามาได้เลยนะครับ สตางค์คุงจะรับอาสาเป็นคนหาคำตอบให้เองครับ และสำหรับคำศัพท์นักเล่นหุ้นที่ผมจะมาแนะนำในวันนี้ รับรองว่าเป็นประโยชน์มากๆครับ ไปดูกันเลยครับ


"เคาะ" ก๊อกๆๆ ไม่ใช่เคาะประตู แต่เป็นการเคาะซื้อหุ้นนั่นเอง เคาะจึงหมายถึง การที่เราส่งคำสั่งซื้อหรือขายหุ้น อย่างที่เคยได้ยินกันว่า เคาะซื้อหุ้นที่ราคา 10 บาท ก็คือการส่งคำสั่งซื้อหุ้นที่ราคา 10 บาท ครับ


" Bid - Offer "
- บิดมาจากคำภาษาอังกฤษ Bid หมายถึง ราคาเสนอซื้อหุ้นครับ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราต้องการจะซื้อหุ้น A ที่ราคา 11 บาท เราก็เสนอซื้อหรือบิดที่ 11 บาท (ขณะนั้นอาจจะราคา 11.5 บาท) เมื่อหุ้นราคาตกลงมาตามที่บิดไว้หรือราคาที่เสนอซื้อไป และบังเอิญตรงกับที่มีคนเสนอขายในราคานั้นพอดี เพื่อนๆก็จะได้ราคาตามที่เราบิดไว้ครับ
- ออฟเฟอร์ แปลว่าเสนอ ซึ่งในทางหุ้น ออฟเฟอร์ หมายถึง เปิดขายหุ้น หรือการเสนอราคาขายหุ้นครับ เช่น เราต้องการเสนอขายหุ้น ที่ราคา 12 บาท เราจะเรียกว่า ออฟเฟอร์หุ้นที่ 12 บาทก็ได้ครับ


"Ceiling - Floor"
- ลิ่ง หรือ ชื่อเต็มว่า ซีลลิ่ง (Ceiling) หมายถึง ราคาหุ้นขึ้นไปชนราคาเพดานของวัน หรือ ราคาหุ้นสูงขึ้นจนทำลายสถิติที่ผ่านมานั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้ว หุ้นแต่ละตัวจะมี ceiling อยู่ที่ 30% ของราคาปิดวันก่อนหน้า เช่น หากราคาปิดของหุ้น A เมื่อวานนี้ ปิดที่ราคา 10 บาท ดังนี้ Ceiling ของราคาหุ้น A ในวันนี้ จะอยู่ที่ 13 บาทนั่นเอง และหากราคาของหุ้น A ขึ้นไปแตะ 13 บาทเมื่อไหร่ แสดงว่าหุ้นตัวนั้น ลิ่ง นั่นเองครับ
- ฟลอ หรือ floor ที่แปลว่าพื้นไงละครับ ดังนั้น เดาไม่ยากครับ ตรงกันข้ามกับลิ่งเลยครับ หมายถึง ราคาซื้อขายต่ำสุด ของหุ้นที่สามารถเป็นได้ในวันนั้น ๆ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนดราคาโดยใช้เกณฑ์ที่ 30% ของราคาปิดในวันก่อนหน้า เหมือนกับลิ่ง และเพิ่มเติมเป็นความรู้ครับ การกำหนดราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวัน ก็เพื่อต้องการลดความผันผวนของราคานั่นเอง


" ลาก " ก่อนหน้านี้ผมได้เล่าความหมายของคำว่า เจ้า ไปแล้ว ส่วนคำว่าลาก ก็หมายถึงกริยาที่เจ้า ได้กระทำ คือการกวาดซื้อหุ้นในปริมาณที่มากพอจนดันราคาให้สูง หรือเจ้าลากราคาหุ้นขึ้นไป นั่นเอง


"ทุบ" ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่เป็นอากัปกริยาของเจ้า คือ เจ้าทุบ ซึ่งหมายถึง การที่เจ้าเทขายหุ้นจนราคาร่วงต่ำลง หรือทุบราคาครับ ซึ่งหลายๆครั้งเม่าอย่างเราๆ ก็โดยเจ้าลากราคาขึ้นไป จนเราหลงบินเข้ากองไฟ แล้วทุบหุ้น พร้อมกับทุบเม่าให้ตายคามือ เศร้านะครับ ระวังกัน สตางค์คุงเป็นห่วงครับ
มือใหม่ลงทุนหุ้น ระวัง7ข้อผิดพลาดที่คุณอาจไม่รู้ตัว

สวัสดีคร้าบ เพื่อนๆ ชาว SBI Thai Online วันนี้สตางค์คุงอยากจะชวนเพื่อนๆ ให้ลองสำรวจตัวเองเกี่ยวกับการลงทุนที่ผ่านๆ มากันสักหน่อย สตางค์คุงคิดว่าเพื่อนๆ ทุกคนก็น่าจะเคยผ่านจุดที่ต้องขาดทุนกันมาบ้าง ซึ่งการขาดทุนของแต่ละคนในแต่ละครั้ง ก็คงจะเกิดจากความผิดพลาดที่แตกต่างกันไป และในเมื่อความผิดพลาดเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เพื่อนๆ น่าจะสามารถทำได้ดีที่สุด คือ เรียนรู้จากมันนั่นเอง อย่างไรก็ดี สตางค์คุงก็อยากจะลองแชร์ประสบการณ์ความผิดพลาดที่ผ่านมาให้เพื่อนๆ ได้ลองไปเอาคิด หรือหาวิธีหลีกเลี่ยงที่จะทำความผิดพลาดเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะมือใหม่ที่อาจจะยังไม่ทันได้ทำความผิดพลาดเหล่านี้ ก็จะได้จัดการไม่ปล่อยให้มันเกิดขึ้น


"ไม่ขายไม่ขาดทุน" – วลียอดฮิตสำหรับคน ‘ติดดอย’ เป็นหนึ่งในข้อผิดพลาดที่นักลงทุนส่วนมากเคยทำ ทั้งๆ ที่เราสามารถจะออกจากสถานะขาดทุนได้ตั้งแต่ยังน้อยๆ แต่ด้วยธรรมชาติของมนุษย์เราที่ไม่อยากจะเป็นคนผิด ก็ทำให้เรายอมอดทนถือขาดทุนต่อไปเรื่อยๆ และได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งราคาจะกลับขึ้นมาได้ โดยปกติแล้ว ความผิดพลาดข้อนี้จะรุนแรงมากกว่าปกติ หากเป็นการไล่ซื้อหุ้นที่กำลังร้อนแรงและวิ่งขึ้นอย่างบ้าคลั่ง เพราะในสถานการณ์แบบนั้นมักจะเป็นช่วงที่งานเลี้ยงใกล้จะเลิกราแล้ว หากเรายังทนถือต่อไปหลังจากหุ้นกลับทิศลงมา ก็มีโอกาสจะติดดอยกันยาวๆ ได้นะครับ 


"ซื้อเฉลี่ยขาลง" – นอกจากไม่ขายไม่ขาดทุนแล้ว การเข้าไปซื้อเฉลี่ยขาลงเป็นเหมือนการซ้ำเติมความผิดพลาดเข้าไปอีก นอกจากทุนก้อนเดิมที่กำลังขาดทุนอยู่แล้ว การเข้าไปซื้อหุ้นตัวเดิมเพิ่มเข้ามาอาจจะทำให้เราขาดทุนจากการซื้อครั้งใหม่เพิ่มเข้าไปอีก ดูเผินๆ เหมือนกับว่าการซื้อเฉลี่ยขาลงจะช่วยให้ต้นทุนเฉลี่ยเราถูกลง แต่อีกมุมหนึ่งเราอาจจะกำลังเลือกหุ้นผิดตัว และการที่หุ้นวิ่งลงหลังจากที่เราเข้าไปซื้อ ก็เป็นสัญญาณเตือนในเบื้องต้นให้เราต้องทบทวนว่า ‘สิ่งที่เราคิดในตอนแรกถูกต้องหรือไม่?’ จริงๆ แล้วมีคนเคยพูดไว้ว่า ‘การซื้อเฉลี่ยขาลง ก็เหมือนกับเอามือไปรับมีดที่กำลังตกลงมา’ ถ้าเราไม่ชำนาญ ก็ระวังมีดจะบาดมือได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น หากเพื่อนๆ ยังมั่นใจว่าเราคิดถูก ก็อาจจะรอให้หุ้นที่เราซื้อเริ่มวิ่งขึ้นไปก่อนสักหน่อยแล้วจึงซื้อเพิ่ม แม้ต้นทุนเราจะสูงขึ้น แต่ก็เป็นการช่วยยืนยันว่าเราน่าจะคิดถูก 


"ไม่มีกฎในการซื้อขาย หรือมีแล้วแต่ไม่ทำตาม" – กฎหรือวิธีที่นักลงทุนใช้เพื่อตัดสินใจซื้อขาย คือองค์ประกอบสำคัญของนักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จ หรือหากเพื่อนๆ มีกฎซึ่งได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าน่าเชื่อถืออยู่กับมือ แต่มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าไม่มีวินัยที่จะทำตาม นอกจากกฎจะช่วยให้เพื่อนๆ มีวิธีตัดสินใจซื้อขายอย่างเป็นระบบแล้ว เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น สิ่งนี้ยังจะช่วยให้เราหาสาเหตุและปรับปรุงแก้ไขความผิดพลาดได้ง่ายขึ้นอีกด้วย 


"ซื้อตามข่าวลือ" – ข่าวลือเหมือนเป็นของคู่กันกับตลาดหุ้น และยังเป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนหลายต่อหลายคนหลงผิดไปได้ง่ายๆ ‘เขาว่างบจะดีอย่างงั้น จะมีร่วมทุนอย่างงี้ นี่ข้อมูลวงในเลยนะ’ หรืออีกสารพัดข่าวลือในตลาด สตางค์คุงอยากให้เพื่อนๆ ที่เข้ามาลงทุนมีสติและไตร่ตรองข้อมูลที่ได้รับมาให้มากๆ อยู่เสมอ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลที่ว่าเป็นวงในนั้น ส่วนมากมักจะผ่านการส่งต่อมาหลายทอดแล้ว ซึ่งกว่าจะถึงเราก็อาจจะสายเกินไปเสียแล้ว 


"อยากรวยเร็ว จนลงทุนเกินตัว" – แน่นอนว่าทุกคนที่เข้ามาในตลาดหวังว่าจะได้รับกำไรกลับออกไป จนในบางครั้งทำให้เราพยายามมองหาทางลัด เพื่อจะประสบความสำเร็จโดยง่ายและโดยเร็ว ซึ่งการกระทำเช่นนี้มักจะทำให้เราลงทุนเกินกว่าสิ่งที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเกินทุนที่มี อย่างการการทุ่มทุนทั้งหมดไปกับการลงทุนเพียงครั้งเดียว โดยที่ไม่รู้ว่าความเสี่ยงมากสุดคือเท่าไหร่ หรืออีกทางหนึ่งคือการลงทุนเกินความรู้ที่มี อย่างการพยายามเข้าไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราทดสูง เพื่อที่ว่าหากถูกทางจะได้กำไรมากๆ แต่เรากลับยังไม่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอ ก็มีโอกาสที่จะทำให้เราขาดทุนไปได้โดยง่ายเช่นกัน


"ไม่รู้จักอดทน" – ในส่วนนี้เป็นเรื่องของความอดทนทั้งต่อสถานการณ์ที่เรายังไม่ได้ซื้อหุ้น และซื้อหุ้นไปแล้ว เพื่อนๆ อาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘ขายหมู’ กันมาบ้าง ซึ่งเป็นเพราะเรารีบขายทำกำไรออกมาเร็วเกินไป ทั้งๆ ที่เราเลือกหุ้นได้ถูกตัวแล้ว ส่วนอีกมุมหนึ่งคือการอดทนในขณะที่ยังไม่ได้ซื้อหุ้น หรือมีเงินสดเหลือ ซึ่งเพื่อนๆ บางคนอาจจะเกิดอาการ ‘คันไม้คันมือ’ มีเงินไม่ได้ ต้องซื้อสักหน่อย ทั้งๆ ที่สถานการณ์ในตอนนั้นอาจจะยังไม่ใช่จุดที่เราได้เปรียบ ทำให้เราต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ไปโดยใช่เหตุ 


"ขาดการทบทวนการลงทุน" – ข้อสุดท้ายที่มือใหม่หลายๆ คนอาจจะละเลยที่จะทำ คือการจดบันทึก และเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต สตางค์คุงเชื่อว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เราพัฒนาได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้จากความผิดพลาดที่ทำลงไป และไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดนั้นๆ เกิดขึ้นมาซ้ำอีก เท่านี้เพื่อนๆ ก็จะค่อยๆ ลดความผิดพลาดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือแต่รูปแบบการกระทำที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในท้ายที่สุด 





 
มารู้จัก P/E กันเถอะ

P/E เป็นที่กล่าวถึงโดยนักลงทุนในวงกว้าง และถูกใช้ในการวัดมูลค่าหุ้นกันมาอย่างยาวนาน โดยใช้วัดว่าหุ้นถูกหรือหุ้นแพง ส่วนใหญ่นักวิเคราะห์จะใช้ P/E หามูลค่าของหุ้นในบทวิเคราะห์ นักลงทุนใช้P/Eในการวัดมูลค่าของหุ้นที่จะเข้าลงทุน หรือแม้แต่การซื้อขายกิจการก็ยังต้องใช้มูลค่าของP/E ในการวัดมูลค่าของกิจการ วันนี้เราจะไปดูกันว่า P/E ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอะไรซ่อนอยู่บ้างนะคร้าบบ


ค่า P/E คืออัตราส่วนกำไรต่อหุ้น สามารถหาได้โดยการนำราคาหุ้นในกระดาน มาหารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้น (ปกติคือกำไรสุทธิย้อนหลัง4ไตรมาส) เหตุผลที่ต้องใช้ค่า P/E เพราะว่า การเอาราคาของหุ้นมาเปรียบเทียบกันตรงๆ ไม่สามารถบอกได้ว่าหุ้นถูกหรือแพง เช่น หุ้นอสังหาฯราคา 1-2บาทก็ไม่ได้ หมายความว่าจะมีราคาถูกกว่าหุ้นกลุ่มธนาคารที่ราคา 100-200 บาทเสมอไป เพราะเวลาเราวัดมูลค่าสิ่งของถูกหรือแพงเราต้องวัดโดยอ้างอิง “ราคา” คู่กับ”มูลค่า”ของสิ่งของเสมอ เช่น เราสั่งข้าวผัดตามร้านรถเข็น ในราคา40 บาท เงิน40บาทคือเงินที่เราจ่าย แต่มูลค่าที่เราได้รับคือข้าวผัด1จาน ลองสมมติว่ามีร้านขายข้าวผัดมาตั้งข้างๆ แล้วขายข้าวผัดที่มีรสชาติ ปริมาณเท่าๆกับร้านแรก โดยตั้งราคาที่70 บาท เราก็จะรู้สึกว่าร้านที่สองนั้นขายแพง เพราะเราได้ยึดเอา”มูลค่า”ซึ่งก็คือปริมาณและรสชาติของข้าวผัด กับ”ราคา” ของข้าวผัดร้านแรกเป็นตัวอ้างอิงนั้นเอง ในส่วนของหุ้นก็ไม่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เราใช้เป็นตัวอ้างอิงมูลค่าของหุ้นคือ “กำไรต่อหนึ่งหน่วยหุ้น” นั่นเอง เช่นสมมติว่าหุ้นมี P/E เท่ากับ 10 เท่า หมายความว่า เรายินดีที่จะจ่ายเงินเป็น10เท่า เพื่อแลกกับกำไร 1 หน่วย แต่ถ้า หุ้น P/Eเท่ากับ 20 เท่า หมายความว่า เรายินดีที่จะจ่ายเงินเป็น20เท่าเพื่อแลกกับกำไร 1 หน่วย เป็นต้น


เรารู้กันแล้วว่าค่า P/E สามารถใช้ดูความถูกแพงของหุ้นได้ แต่ถูกหรือแพงสามารถเทียบกับอะไรได้บ้างละ? โดยปกติง่ายสุดก็คือเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของตัวเองในอดีต เช่น หุ้นA อาจมีค่าP/Eเฉลี่ย10ปีอยู่ที่ 10 เท่า แต่ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 8 เท่า แสดงว่าอยู่ในช่วงที่ราคาไม่แพงมาก กลับกันถ้าราคาอยู่ 15 เท่า อาจจะหมายถึงว่าอยู่ในช่วงแพงมากเป็นต้น (ปล. หุ้นแพงไม่ได้หมายความว่าเป็นหุ้นไม่ดีนะครับ มันมีความเป็นได้ว่าพื้นฐานของกิจการมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้กำไรเติบโตได้ดีกว่าในอดีต ค่าP/E เลยปรับฐานขึ้นไปด้วย)


เปรียบเทียบแบบถัดมาคือ เปรียบเทียบกับหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน สมมติว่า เรามีหุ้นอยากซื้อหุ้นซักตัวในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เราก็ควรเอาค่า P/E ของตัวที่เราจะซื้อ ไปเปรียบเทียบดูกับหุ้น LH, AP, ANAN ฯลฯ เป็นต้น ถ้าเราเห็นหุ้นที่มี P/E ถูกหรือหุ้นแพงกว่าค่าปกติในอดีต ก็ควรทำการบ้านหาเหตุผลเพิ่มเติมด้วยว่าการที่ P/E สูงขึ้นหรือต่ำลงนั้นมีเหตุผลอะไรมารองรับหรือเปล่า ในบางโอกาสถ้าเราพบว่าหุ้น A กับหุ้น B อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อัตราการเติบโตของกำไรใกล้เคียงกัน แต่ค่า P/E ของทั้งสองตัวไม่เท่ากัน เราก็ควรซื้อหุ้นตัวที่มีค่า P/E ต่ำกว่าเป็นต้น 


ถ้าอ่านกันมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆหลายๆคนก็คงสังสัยว่า ถ้าแบบนั้นทำไมเราจะต้องซื้อหุ้นที่ P/E สูงๆด้วย ทำไมเราไม่มองหาหุ้นที่มีค่า P/Eต่ำๆ ซึ่งเป็นหุ้นราคาถูก แล้วลงทุนให้มากที่สุดไปเลย ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ดูดี แต่อย่าลืมว่าตัว “E” หรือกำไรต่อหน่วยใน P/E เป็นตัวเลขที่ ไม่ได้คงที่ไปตลอด สามารถเพิ่มหรือลดได้ บางครั้งการที่หุ้น P/E ต่ำมาก ก็มีความเป็นไปได้สองประการคือ 1) ราคามันถูกมากเกินจริง และมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต 2) ราคามันถูกเพราะ กำไรต่อหุ้นหรือตัว “E” มีแนวโน้มที่จะลดลงอีกในอนาคต จากผลการดำเนินงานที่แย่ลงของบริษัท ซึ่งตลาดเค้ารับรู้ได้เลยให้ราคาหุ้นที่ P/E ที่ต่ำ


ขณะเดียวกันนักลงทุนหลายๆคนก็ชอบลงทุนในหุ้นที่ P/E สูงๆด้วยเหตุผลที่ว่า อัตราการเติบโตของกำไรในหุ้นตัวนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ตลาดเลยให้ราคา P/E ค่อนข้างสูงเพื่อรองรับการคาดการณ์การเติบโตของหุ้นตัวนั้นๆ ถ้าผลประกอบการออกมาดีตรงตามที่คาดหวัง ราคาของหุ้นก็อาจจะปรับเพิ่มไปได้อีก แต่ถ้าน้อยกว่าคาด ราคาของหุ้นก็ปรับฐานลงมา จะเห็นว่าการที่ราคาของ P/E ในตลาดจะสูงหรือจะต่ำบางครั้งก็ขึ้นอยู่ที่การ”คาดการณ์” การเติบโตของกำไรในอนาคต ในการที่นักลงทุนจะตัดสินใจว่า มูลค่า P/E ที่ตลาดให้นั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ต้องขึ้นกับมุมมองของนักลงทุนเองว่า จะ “เชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ”ราคาที่ตลาดให้ (แน่นอนว่าต้องขึ้นอยู่กับมุมมองที่นักลงทุนมองกิจการด้วย ว่าเป็นกิจการที่ดี สามาถทำกำไรคุ้มค่ากับราคาP/Eที่ต้องจ่ายหรือเปล่า) ดังนั้นการนำค่า P/E ไปใช้ในการลงทุนจึงถือว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ในคราวเดียวกันนะครับ 


นอกจากการเติบโตของกำไรถูกนับเข้าไปในราคาP/E อารมณ์ของนักลงทุนในตลาดก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดความถูกแพงของค่า P/E เช่นกัน ในช่วง40กว่าปีของตลาดหุ้นไทย ค่าP/Eโดยเฉลี่ยจะอยู่ราวๆ12-14เท่า แต่ในช่วงที่ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ค่าP/E เคยขึ้นไปถึง 29 เท่า และในช่วงปีหลังเกิดวิกฤติกลับตกไปอยู่ที่ 3-5 เท่า ในช่วงที่ใกล้เข้ามาหน่อยก็คือวิกฤติHamburger ในช่วงปี 2008-2009 นักลงทุนมีกังวลเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นค่อนข้างมากทำให้ มีการเทขายหุ้นออกมาและราคาหุ้นในตลาดก็ลดลงพร้อมๆกับค่า P/E ที่ลดลงราวๆ 5-7เท่า เท่านั้น จะเห็นว่าค่าP/E จะค่อนข้างเชื่อมโยงอารมณ์ของคนตลาดค่อนข้างมากเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นก่อนลงทุน นักลงทุนควรต้องระลึกอยู่เสมอว่าเรากำลังซื้ออยู่ในช่วงที่ราคาถูกหรือแพง เพื่อสามารถประเมินคร่าวๆได้ว่าโอกาสที่ราคาจะขึ้นไปได้สูงขึ้นมีมากแค่ไหน หรือโอกาสที่ราคาจะต่ำลงมีมากแค่ไหนนะคร้าบบ 

 
หุ้น 6 ประเภท ของปีเตอร์ ลินซ์

เนื่องจากในตลาดหุ้นของไทยเรามีหุ้นอยู่เป็นร้อยๆตัว แล้วหุ้นแต่ละตัวก็มีลักษณะการทำธุรกิจที่ค่อนข้างหลากหลายและซับซ้อนแตกต่างกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องง่ายใช่มั้ยครับที่เราจะสับสนว่า เราควรจะจัดการยังไงกับหุ้นแต่ละตัวดียังไงดี? วันนี้สตางค์คุงอยากจะมานำเสนอให้เพื่อนๆรู้จักวิธีการแบ่งหุ้นออกเป็น 6 ประเภท ของปีเตอร์ ลินซ์ ซึ่งจะทำให้เราสามารถแบ่งหุ้นออกเป็นกลุ่มๆตามลักษณะการเติบโตของหุ้น การเคลื่อนไหวขึ้นลงราคาหุ้นตามเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการให้เหมาะสมกับหุ้นแต่ละประเภทนั่นเองนะครับ ไปดูกันเลย


ลักษณะของหุ้นโตช้าคือ เป็นหุ้นในอุตสาหกรรมที่ใกล้ถึงจุดอิ่มตัว กำไรอาจโตเท่ากับหรือไปเร็วกว่าGDP เล็กน้อย (ประมาณ 2 – 5% โดยเฉลี่ย) โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นธุรกิจที่ทำมานานแล้ว และอาจเคยเป็นกิจการที่กำไรเติบโตอย่างรวดเร็วมาก่อน วิธีสังเกตหุ้นโตช้าวิธีหนึ่งคือ ลองดูกราฟราคาหุ้นที่มีการเหวี่ยงขึ้นลงค่อนข้างน้อยเป็นระยะเวลายาวนาน กำไรของหุ้นประเภทนี้มักจะทรงๆ หรือโตไปเรื่อย ๆแบบไม่หนี GDP มากนัก มักจะเป็นกิจการที่ฐานะทางการเงินดี หนี้สินน้อย และจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ การได้ปันผลสม่ำเสมอเป็นข้อดีของหุ้นประเภทนี้ แต่จุดที่ต้องสังเกตเพิ่มเติมคือ เงินปันผลจะมีโอกาสเติบโตในอนาคตหรือไม่ และ อะไรที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เงินปันผลโต? ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นกองอสังหาประเภทoffice โอกาสเติบโตของเงินปันผลคือ การขึ้นค่าเช่าทุกๆ3ปี ซึ่งจะต้องขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราการขึ้นของค่าใช้จ่ายด้วยเป็นต้น แต่บางกิจการที่มีเงินสดมาก แต่กิจการอยู่ในช่วงอุตสาหกรรมตะวันตกดิน อย่างเช่นธุรกิจสิ่งพิมพ์ ถึงจะได้เงินปันผลเยอะ แต่อาจจะมีความเสี่ยงที่เงินปันผลจะไม่เติบโตหรือจะลดลงได้ในอนาคต 


ลักษณะของหุ้นแข็งแกร่งคือหุ้นขนาดใหญ่ อาจจะเป็นกิจการที่คงอยู่มานาน (คล้ายๆหุ้นโตช้า) มีกำไรค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่จุดที่แตกต่างกับหุ้นโตช้าคือการเติบโตเหนือกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจบ้าง เช่นอาจจะประมาณปีละ 7-10% โดยเฉลี่ย ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่กิจการเป็นที่ยอมรับของทั้งลูกค้าและนักลงทุนมาอย่างยาวนาน เช่น หุ้นกิจการธนาคารขนาดใหญ่ หุ้นของกิจการวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ เป็นต้น หุ้นแข็งแกร่งนั้น มีจุดเด่นก็คือ ยอดขายและกำไรมักจะไม่ผันผวนนักและทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจได้ดี ความเสี่ยงในการลงทุนจะต่ำ หุ้นแข็งแกร่งอาจจทำผลงานได้ดีแต่มันไม่ใช่หุ้นที่จะเติบโตเป็นหุ้นหลายเด้งได้ ถ้าเราซื้อแล้วได้กำไร 30-50% ภายในระยะเวลา 1-2 ปี ก็ต้องมาเริ่มพิจารณาหาจังหวะขายได้แล้ว 


ลักษณะของหุ้นโตเร็ว คือ มักเป็นบริษัทขนาดเล็กมาแรง ที่กำไรเติบโตได้ปีละ 20-25% หุ้นประเภทนี้มีโอกาสที่จะเติบโตไปเป็นหุ้นหลายเด้ง ในไทยก็มีอยู่หลายตัวเช่น Beauty, KCE หรือ แม้กระทั่ง หุ้นโรงพยาบาลและค้าปลีกบางตัวก็เคยเป็นหุ้นโตเร็วมาก่อน กิจการในหุ้นโตเร็วมักจะเรียนรู้ที่จะทำกิจการให้ประสบความสำเร็จในที่ที่นึง และก๊อปปี้สูตรสำเร็จไปใช้ซ้ำในอีกที่หนึ่ง จากเมืองหนึ่งไปยังเมืองอื่นเรื่อยๆ หรือ อาจจะเปิดเข้าสู่ตลาดใหม่ทำให้กำไรต่อหุ้นของกิจการปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด สิ่งที่ควรให้ความสนใจในหุ้นโตเร็วคือ สินค้าและบริการอะไรที่เป็นส่วนสำคัญในการเติบโตนี้ และประเมินโอกาสที่จะเติบโตได้อีกในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น ร้าน 7-11 ที่เคยขยายจากไม่กี่ร้อยเป็น หลายพัน จนปัจจุบัน เกือบหมื่นสาขาแล้ว ถามว่ายังมีช่องทางเติบโตได้อีกหรือไม่ ตลาดในประเทศและต่างประเทศยังมีโอกาสมากแค่ไหน คำถามนี้เป็นการบ้านสำหรับนักลงทุนที่จะต้องไปทำกันต่อนะครับ ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง คือดูว่าหุ้นซื้อขายที่ P/E เท่ากับหรือใกล้เคียงกับอัตราการเจริญเติบโตของกำไรหรือไม่ ถ้าP/E สูงกว่าการเติบโตของกำไรมากๆ อาจเป็นช่วงที่ต้องมาพิจารณาให้ละเอียดว่าควรจะขายหรือยัง 


หุ้นวัฐจักรคือหุ้นของบริษัทที่มียอดขายและกำไรขึ้นๆลงๆตามวัฐจักรของเศรษฐกิจหรือตามวัฐจักรของอุตสาหกรรม ในช่วงขาขึ้นกำไรของหุ้นวัฐจักรอาจเติบโตอย่างรวดเร็วจนดูคล้ายกับหุ้นเติบโตหรือหุ้นแข็งแกร่ง แต่จุดแตกต่างของหุ้นวัฐจักรกับหุ้นเติบโตและหุ้นแข็งแกร่งก็คือ หุ้นสองตัวหลังถึงกำไรจะหดตัวบ้างแต่จะสร้างฐานให้เติบโตต่อไปได้ในระยะยาว ขณะที่หุ้นวัฐจักรกำไรจะขยายตัวและหดตัวและขยายและก็หดตัวอีก แทบจะไม่สร้างฐานให้เติบโตได้ในระยะยาวเลย (ง่ายสุดลองเอากราฟราคาหุ้นของCPALL เทียบกับ ราคาหุ้นสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ จะเห็นได้ชัดเจน) หุ้นที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่นั้นมักเป็นหุ้นวัฏจักร เช่น สินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา น้ำตาล บริษัทผลิตรถยนต์ ยางรถยนต์ สายการบิน และเคมีภัณฑ์ก็เป็นหุ้นวัฐจักรเช่นกัน (สังเกตว่าหุ้นในตลาดหุ้นไทยเข้าข่ายหุ้นวัฐจักรอยู่หลายตัวเลยล่ะคร๊าบ) สิ่งสำคัญในการเล่นหุ้นวัฐจักรคือเราต้องรู้ว่าปัจจุบันวัฐจักรของสินค้าตัวนั้นอยู่ช่วงไหน ยกตัวอย่างเช่น รอบของอุตสาหกรรมรถยนต์จะมีช่วง3-4ปีที่ดี และตามด้วย 3-4ปีที่แย่ มักจะวนเป็นรอบแบบนี้เสมอ ยิ่งเจอรอบของอุตสาหกรรมตกต่ำรุนแรงมากเท่าไหร่ การฟื้นตัวก็จะแรงตามเท่านั้น ในความเป็นจริงการคาดการณ์รอบขาขึ้นของหุ้นวัฐจักรจะทำได้ง่ายกว่าการคาดการณ์ช่วงวัฐจักรขาลง จุดสำคัญที่ต้องใส่ใจคือตัวเลขของสินค้าคงคลัง ว่ายังเติบโตไปด้วยกันกับยอดขายหรือ นอกจากนี้นักลงทุนยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของอุปสงค์และอุปทานของสินค้านั้นๆอย่างใกล้ชิดด้วยนะครับ


ลักษณะของหุ้นฟื้นตัวคือ เป็นหุ้นที่กิจการใกล้เจ๊งจากภาวะตกต่ำดำดิ่งของผลประกอบการ แต่มีการปรับโครงสร้าง ให้กลับมาสู่เส้นทางที่กิจการจะพลิกฟื้นมากำไรได้ หุ้นกลุ่มนี้สามารถสร้างกำไรให้ผู้ซื้ออย่างเป็นกอบเป็นกำ และให้ผลตอบแทนที่มีค่าเป็นทวีคูณ นักลงทุนที่สนใจหุ้นประเภทนี้ต้องใช้ความพยายามในการวิเคราะห์หาบริษัทที่ประสบปัญหาแต่มีสัญญาณของการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับแรกคือ บริษัทต้องสามารถเอาตัวรอดจากการล้มละลายให้ได้ก่อน คือต้องมีกระแสเงินสดเพียงพอในการหมุนให้ธุรกิจเดินต่อได้ ตัวอย่างหุ้นTurn around ในไทย เช่น JAS MALEE KAMART (ปล.สตางค์คุงกำลังยกตัวอย่างหุ้นโดยเล่าถึงภาพในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ปัจจุบันหุ้นอาจจะเป็นหรือไม่เป็นแบบนี้ก็ได้ สตางค์คุงไม่ได้ชี้นำให้ไปซื้อนะคร้าบ) ต้องบอกก่อนนะครับว่า หุ้นTurn around เป็นกลุ่มที่มองยากที่สุด เพราะ วิกฤติส่วนใหญ่มักมีความซับซ้อนไม่ได้แก้ไขได้แค่ในไตรมาสหรือสองไตรมาส เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเข้าลงทุนอย่างน้อยก็ต้องเข้าใจสาเหตุของปัญหา และเราต้องวิเคราะห์ให้ออกก่อนว่าบริษัทมีหนทางอย่างไรที่จะฟื้นตัว เช่น มีการยุบแผนกที่ไม่ทำกำไร ยอดขายมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ หรือสามารถออกสินค้าใหม่ที่สามารถสร้างความนิยมในกลุ่มลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น 


ลักษณะของหุ้นทรัพย์สินมากคือหุ้นที่มีทรัพย์สินโดยเฉพาะที่เป็น เงินสด อาคาร ที่ดิน หรือหุ้นเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อเอามูลค่าตลาดของสินทรัพย์นั้นมาหักส่วนของหนี้สินออกแล้วได้มูลค่าที่สูงกว่ามูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดของบริษัท จึงเปรียบเสมือนกับการที่เราได้กำไรตั้งแต่วันแรกที่ซื้อเลยล่ะครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนักลงทุนในหุ้นทรัพย์สินมากจะได้ประโยชน์จากหุ้นก็ต่อเมื่อมีการรับรู้หรือบริษัททำการขายสินทรัพย์ออกไปเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีการขายสินทรัพย์ โอกาสที่จะได้ประโยชน์จากหุ้นตัวนี้ก็มีน้อย กลายเป็นว่าเราเอาเงินมาจมไว้ บางทีอาจจะเป็นหลายๆปีเลยล่ะคร๊าบ 


ด้วยการจัดหุ้นของเราให้เข้ากับกลุ่มหรือประเภทต่างๆตามวิธีของหุ้น 6 ประเภทของปีเตอร์ ลินซ์ จะช่วยให้เรามีไอเดียที่ดีขึ้นว่าเราสามารถคาดหวังอะไรจากมันได้ และสามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม เช่น เราสามารถหาหุ้นหลายเด้งได้จากหุ้นเติบโต แต่อาจจะไม่เหมาะที่จะไปหากับกลุ่มหุ้นโตช้า หรือ ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีเราอาจต้องมุ่งการลงทุนไปที่หุ้นแข็งแกร่งมากกว่าหุ้นวัฐจักร กลับกันถ้าเราอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น เราก็ควรลงทุนในหุ้นวัฐจักรมากขึ้นเป็นพิเศษ หรือ ถ้าเราต้องการถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งในระยะยาว หุ้นวัฐจักรอาจไม่ใช่หุ้นที่เหมาะสมเป็นต้น สุดท้ายนี้สตางค์คุงขอย้ำอีกครั้งว่าหุ้นที่ยกขึ้นมาเป็นเพียงตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ มิได้มีเจตนาจะชี้นำหรือแนะนำให้ลงทุนแต่ประการใด นักลงทุนควรใช้วิจารณญาณของตนเองในการลงทุนทุกครั้งนะครับ 

คัดหุ้นสไตล์ William J. O’Nei ระบบ CAN SLIM

สำหรับเพื่อนๆ ที่เข้ามาศึกษาเกี่ยวกับการลงทุน คงจะพอคุ้นหูกับชื่อของ William J.O’Neil กันอยู่บ้าง เพราะนอกจากเขาจะเป็นผู้คิดค้นกลยุทธ์แล้ว เขายังเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในวอลสตรีท อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง Investor’s Business Daily และเว็บไซต์ Investors.com William J. O’Neil ได้เขียนหนังสือที่เปิดเผยถึงกลยุทธ์ซึ่งเข้าได้ใช้สำหรับการคัดเลือกหุ้นเพื่อเข้าลงทุน หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า ‘How to Make Money in Stocks – A Winning System in Good Times or Bad’ ซึ่งกลยุทธ์ที่ว่านี้ มีชื่อเรียกอย่างง่ายว่า ‘CAN SLIM’ มาดูกันเลยว่าเป็นยังไง


โดยหุ้นที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะมีลักษณะเฉพาะทั้ง 7 อย่างนี้ร่วมกัน ในตอนที่มันอยู่ในช่วงที่มีการเติบโตทะลุขึ้นมา สิ่งที่โอนีลทำคือการระบุบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง มียอดขายและกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากผลิตภัณฑ์หรือการบริการแบบใหม่ที่มีเอกลักษณ์ และจากนั้นก็ซื้อหุ้นของพวกมันในตอนที่มีการทะลุขึ้นมาจากช่วงการบีบตัวของราคาที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเหมาะสม และก่อนที่มันจะมีการวิ่งขึ้นไปอย่างรุนแรงในระหว่างตลาดกระทิง 


กำไรเป็นปัจจัยพื้นฐานข้อแรกที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกำไรในไตรมาสมาสปัจจุบัน ซึ่งควรจะโชว์ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (เพื่อหลีกเลี่ยงความบิดเบือนในเรื่องของฤดูกาลออกไป) นอกจากนี้ ยังควรจะนำเอากำไรพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวออกไปด้วย ซึ่งโอนีลแนะนำว่า ‘กำไรต่อหุ้นในไตรมาสปัจจุบันควรที่จะเพิ่มขึ้นในเปอร์เซ็นต์ที่สูงอย่างน้อย 25% - 50% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนบริษัทที่ดีที่สุดสามารถแสดงผลกำไรที่สูงขึ้นถึง 100% - 500% หรือมากกว่านั้น’ 


ในกฎข้อนี้ โอนีลเริ่มต้นด้วยการบอกกับเราว่า บริษัทใดๆ ก็สามารถรายงานไตรมาสที่มีกำไรที่ดีได้เป็นครั้งคราว แต่แค่นั้นยังไม่เพียงพอ เพื่อให้แน่ใจว่ากำไรที่เกิดขึ้นล่าสุดไม่ได้เป็นแค่ความสำเร็จชั่วคราว เราต้องหาหลักฐานมากกว่านั้นจากประวัติของหุ้นแต่ละตัว โอนีลบอกไว้ว่า ‘ให้ซื้อหุ้นที่มีอัตราการเติบโตของกำไรและยอดขายที่สูงขึ้นอย่างชัดเจนในแต่ละปีที่ 25% - 30% ของ 3 ปีหลังสุด บวกกับกำไรในไตรมาสหลังๆ ที่สูงขึ้น และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของเจ้าของ (ROE) ที่สูงอย่างน้อย 17% อย่ายอมรับอะไรที่น้อยกว่านี้ ถ้าคุณต้องการผลลัพธ์ที่ดีขึ้น’ ขณะเดียวกัน โอนีลยังได้พูดถึงการพลาดโอกาสในหุ้นที่เติบโตสูงเหล่านี้เพราะการหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีค่า P/E สูง โอนีลพบว่าสิ่งที่สำคัญกว่าค่า P/E มาก ก็คือเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของกำไรต่อหุ้น 


อะไรที่ดูเหมือนกับว่าราคาสูงเกินไปและดูมีความเสี่ยงสำหรับคนส่วนใหญ่ สุดท้ายแล้วมักจะสูงขึ้นไปอีก และอะไรที่ดูเหมือนว่าจะราคาต่ำและถูก มักจะตกลงไปมากกว่าเดิม’ เป็นสิ่งที่โอนีลบอกเอาไว้ เพราะมันต้องใช้อะไรใหม่ๆ เพื่อที่จะเริ่มต้นการวิ่งขึ้นของราคาหุ้น อาจจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการใหม่ รวมไปถึงการทำจุดสูงสุดใหม่ของราคาหุ้น ซึ่งอาจจะทำให้เรารู้สึกว่ามันแพงเกินไปแล้ว แต่การจะเข้าซื้อในจุดสูงสุดใหม่นั้น ควรจะเกิดจากการทะลุขึ้นมาจากฐานราคาที่เหมาะสมด้วย โดยช่วงการบีบตัวของราคาหรือการสร้างฐานที่น่าเชื่อถือควรจะมีระยะเวลาตั้งแต่ 7 หรือ 8 สัปดาห์ ไปจนถึง 15 เดือ 


ราคาของเกือบทุกๆ อย่างในชีวิตประจำวันถูกกำหนดขึ้นมาด้วยกฎอุปสงค์และอุปทาน เช่นเดียวกับตลาดหุ้น วิธีที่ดีที่สุดในการวัดอุปสงค์และอุปทานของหุ้นคือการดูที่ปริมาณการซื้อขายในแต่ละวัน เมื่อราคาหุ้นมีการย่อตัว โดยทั่วไปแล้ว คุณจะอยากเห็นปริมาณการซื้อขายที่ลดลง ซึ่งจะบ่งบอกว่ามันไม่มีแรงกดดันจากแรงขายที่เพิ่มขึ้น เมื่อราคาหุ้นวิ่งสูงขึ้น ในเกือบทุกสถานการณ์คุณจะอยากเห็นปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปจะหมายถึงการซื้อของสถาบัน ไม่ใช่ของสาธารณชนทั่วไป 


หนึ่งในวิธีการมองหาหุ้นผู้นำในตลาดซึ่งโอนีลบอกเอาไว้ คือ การมองในวันที่ตลาดปรับฐานระหว่างช่วงตลาดขาขึ้น หุ้นกลุ่มเติบโตที่มีการตกลงมาน้อยที่สุดเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการเลือกที่ดีที่สุด และเมื่อการตกของตลาดโดยรวมสิ้นสุดลงไปแล้วอย่างชัดเจน หุ้นตัวแรกที่เด้งกลับขึ้นมาทำราคาสูงสุดใหม่ จะเป็นหุ้นที่เป็นผู้นำอย่างแท้จริง นอกจากนี้ โอนีลได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นแบบ ‘Sympathy play’ หรือการซื้อหุ้นที่มีผลิตภัณฑ์หรือมีสภาวะที่คล้ายคลึงกัน โดยเลือกตัวที่ราคายังไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับอีกตัวที่ราคาวิ่งไปสูงมากแล้ว เพราะท้ายที่สุดแล้ว หุ้นที่เป็นผู้ตามมักจะไม่สามารถทำได้อย่างที่ผู้นำทำเอาไว้ 


มันต้องใช้อุปสงค์ปริมาณมากในการผลักดันราคาหุ้นขึ้นไป และแหล่งของอุปสงค์ปริมาณมากสำหรับหุ้นก็คือนักลงทุนกลุ่มสถาบัน อย่างเช่น กองทุนรวม กองทุนเพื่อการเกษียณ บริษัทประกันภัย เป็นต้น โดยสรุปแล้ว เราควรจะเลือกซื้อหุ้นที่อย่างน้อยที่สุดก็มีการสนับสนุนจากสถาบันอยู่บ้าง และมีประวัติผลงานในช่วงที่ผ่านมาดีกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งทำให้สถาบันเข้ามาถือครองมันมากขึ้นในหลายไตรมาสที่ผ่านมา 


ส่วนสุดท้ายจะเป็นการมองภาพรวมทั้งหมด แม้เพื่อนๆ อาจจะวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานได้อย่างถูกต้อง แต่หากตลาดกำลังอยู่ในทิศทางขาลงแล้ว หุ้น 3 ใน 4 ของทั้งหมด มักจะร่วงลงไปพร้อมกับค่าเฉลี่ยของตลาด เพราะฉะนั้นเพื่อนๆ ควรจะมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ทิศทางของตลาดได้อย่างถูกต้อง และยังจำเป็นจะต้องรู้ว่ามันเป็นช่วงแรกหรือช่วงหลังของแนวโน้มแล้ว โดยโอนีลได้แนะนำหนึ่งในวิธีระบุทิศทางของตลาดที่คิดว่าทุกคนน่าจะสามารถทำได้ คือ การติดตาม แปลผล ทำความเข้าใจ และดูอย่างละเอียดที่กราฟรายวันของดัชนีตลาด (Daily Index Chart) รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาและปริมาณการซื้อขาย โอนีลเชื่อว่าด้วยความอดทนและการฝึกฝน ไม่นานเพื่อนๆ ก็จะวิเคราะห์ตลาดได้เหมือนกับมืออาชีพที่แท้จริง นอกจากระบบ CAN SLIM แล้ว หนังสือของโอนีลในส่วนที่เหลือยังได้พูดถึงการเรียนรู้ในด้านอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับนักลงทุน อย่างจังหวะเวลาในการขาย การตัดขาดทุน หรือรูปแบบของหุ้นผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเพื่อนๆ ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมก็สามารถหามาอ่านเพิ่มพูนความรู้กันได้ตามสะดวกเลยครับ 

ยกระดับพอร์ตด้วย Money management

‘Money management’ หนึ่งในส่วนผสมสำคัญต่อความสำเร็จในการลงทุน โดยทั่วไปแล้ว เพื่อนๆ ที่ก้าวเข้ามาลงทุนอาจจะพยายามมองหากลยุทธ์หรือระบบการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุดเป็นอันดับแรก แต่จริงๆ แล้ว การจะลงทุนให้ประสบความสำเร็จ การพึ่งแต่กลยุทธ์หรือระบบที่ดีเพียงอย่างเดียว อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะองค์ประกอบสำคัญอีก 2 อย่างที่เพื่อนๆ ควรจะมีด้วย คือ การบริหารจัดการเงินทุนให้เป็นระบบ และจิตวิทยาการลงทุนที่ดี วันนี้สตางค์คุงเลยอยากจะลองชวนเพื่อนๆ มาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง Money management กันก่อนนะครับ


หากแปลกันแบบตรงตัว Money management มันก็คือ ‘การบริหารจัดการเงิน’ หากเรามองเป็นเครื่องมือช่วยเหลืออย่างหนึ่ง มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราบริหารจัดการเงินทุนของเราอย่างเป็นระบบ โดยมีปัจจัยสำคัญที่เราจะคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ คือ ความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk & Reward) แล้วทำไมเราถึงจำเป็นจะต้องมีเจ้า Money management มาคอยช่วยเหลือกันด้วยหละ สำหรับเพื่อนๆ ที่มีประสบการณ์ในการลงทุนมาบ้าง อาจจะเคยประสบกับปัญหาต่างๆ จนทำให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นขาดทุน อย่างเช่น เทรดยังไงก็ไม่รวยสักที ได้กำไรมาติดๆ กัน แต่พอขาดทุนครั้ง สองครั้ง คืนกำไรไปหมด หรือ จะซื้อหุ้นแต่ละตัว ควรจะซื้อเท่าไหร่ดี ทุ่มหมดตัว ซื้อครึ่งเดียว หรือซื้อแค่ 1 ใน 3 พอ? ตัวอย่างของปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นที่มาของความจำเป็นที่เราจะต้องมีเจ้า Money management เข้ามาคอยช่วยเหลือแล้วหละ 


ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง หรือง่ายๆ เลย คือ ไม่มีใครรู้อนาคตล่วงหน้า เพราะฉะนั้นทุกคนที่เข้ามาลงทุน ย่อมเป็นผู้ที่แบกรับความเสี่ยง และในเมื่อมันมีความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้ว เราจะควบคุมอย่างไรเพื่อไม่ให้ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้นั้น สร้างความเสียหายให้เรามากจนเกินไป อย่างเช่น หากเราปล่อยให้เกิดการขาดทุนถึง 50% เราจะต้องสร้างกำไรถึง 100% เพียงเพื่อจะกลับมาแค่เท่าทุน หรือหากเราขาดทุนติดต่อกันถึง 5 ครั้ง แต่เราจำกัดการขาดทุนเพียงแค่ 2% ต่อครั้ง ในครั้งที่ 6 การทำกำไรเพียง 12% ก็เพียงพอจะทำให้เรากลับมามีกำไรได้แล้ว 


ทุกคนมีเงินทุนจำกัด ไม่ว่าจะเป็นคนในระดับฐานะเท่าใด เงินที่นำมาลงทุน ณ ขณะนั้น ย่อมมีจำกัด เพราะฉะนั้น การจัดสรรเงินให้พอเหมาะ พอดี กับการลงทุนในแต่ละครั้ง จะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างกำไรให้กับเรา และยังช่วยให้เรามีสภาพคล่องเพียงพอต่อโอกาสที่อาจจะเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว


เพราะหากเราซื้อขายอย่างเป็นระบบ รู้ความเสี่ยง และผลตอบแทนที่เราคาดหวังตั้งแต่แรก สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดเมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆ ขึ้นมา แต่ในมุมกลับกัน สมมติว่าเพื่อนๆ ตัดสินใจเข้าลงทุนด้วยเงินทุนทั้งหมดที่มี เมื่อราคาหุ้นแกว่งขึ้นหรือลง ก็อาจจะทำให้เพื่อนๆ ตัดสินใจซื้อขายผิดพลาดได้ง่ายขึ้น เพราะอารมณ์ร่วมต่อการลงทุนในครั้งนั้นมักจะมากขึ้นตามไปด้วย 


จากที่เล่ามานี้ เพื่อนๆ น่าจะพอเข้าใจในหลักการเบื้องต้นของ Money management กันแล้ว ถัดมาผมอยากจะลองแนะนำวิธีในการทำ Money management อย่างง่าย ที่เพื่อนๆ จะสามารถนำไปปรับใช้ รวมถึงใช้เป็นแนวทางในการศึกษาต่อยอดเพิ่มเติมกันได้ต่อไป โดยในที่นี้ผมอยากจะให้เพื่อนๆ เริ่มต้นด้วยการสำรวจตัวเองดูก่อนว่า ‘เราเป็นใคร?’ และ ‘เป้าหมายการลงทุนของเราคืออะไร’ หากเพื่อนๆ สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้แล้ว เชื่อว่าการบริหารพอร์ตของเพื่อนๆ น่าจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 


ในขั้นตอนแรกนี้ เพื่อนๆ แต่ละคนน่าจะมีการยอมรับความเสี่ยงได้แตกต่างกันไป ทำให้ตัวเลขความเสี่ยงที่จะกำหนดขึ้นมาไม่ได้เป็นสิ่งตายตัว แต่จากที่สตางค์คุงลองศึกษามาในเบื้องต้น ‘กฎ 6% และ กฎ 2%’ น่าจะพอเป็นแนวทางได้ สำหรับกฎทั้ง 2 ข้อนี้ จะอนุญาตให้เราเสี่ยงต่อการลดลงของเงินทุนรวมทั้งหมดไม่เกิน 6% และขาดทุนต่อ 1 สถานะของเราได้ไม่เกิน 2% สมมติว่า เพื่อนๆ มีเงินทุน 100,000 บาท ความเสี่ยงที่เพื่อนๆ จะยอมให้เกิดขึ้นได้รวมกันต้องไม่เกิน 6,000 บาท (6% ของเงินลงทุนรวม) ขณะเดียวกันความเสี่ยงที่เพื่อนๆ จะยอมให้เกิดขึ้นต่อหุ้นแต่ละตัวที่เข้าไปซื้อจะต้องไม่เกิน 2% ซึ่งก็คือ 2,000 บาท นั่นเอง 


ขั้นตอนนี้จะเป็นเหมือนการเผื่อใจยอมรับในความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น โดยวิธีในการหาจุดตัดขาดทุนก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคที่แต่ละคนใช้ สมมติว่า เพื่อนๆ จะเข้าไปซื้อ PTT ที่ 50 บาท กำหนดจุดตัดขาดทุนไว้ที่ 40 บาท เพราะฉะนั้นความเสี่ยงต่อหน่วยของการซื้อครั้งนี้คือ 10 บาท 


ขั้นตอนนี้เกิดจากการนำเอา 2 ส่วนแรก มาคำนวณ โดยนำ ความเสี่ยงรวมต่อเงินลงทุนที่เพื่อนๆ กำหนดไว้ (ขั้นตอนแรก) หารด้วย ความเสี่ยงต่อหน่วยของหุ้นที่จะเข้าไปซื้อ (ขั้นตอน 2) เพราะฉะนั้น จากตัวอย่าง หากเพื่อนๆ ต้องการซื้อ PTT ที่ 50 บาท กำหนดจุด stop loss ที่ 40 บาท เท่ากับมีความเสี่ยง 10 บาท โดยเรากำหนดว่าจะเสี่ยงไม่เกิน 2% ของเงินลงทุน 100,000 บาท เพราะฉะนั้น ระบบ Money management ที่เราใช้จะกำหนดให้เพื่อนๆ สามารถซื้อ PTT ได้ไม่เกิน 200 หุ้น เกิดจากการนำ (100,000×2%)÷10 


และหากเพื่อนๆ เกิดสนใจหุ้นตัวอื่นเพิ่มเติม ก็สามารถใช้หลักการเดียวกัน เพียงแต่ว่า ความเสี่ยงรวมจะต้องไม่เกิน 6% หรือพูดง่ายๆ คือ ระบบจะอนุญาตให้เราซื้อหุ้นได้ไม่เกิน 3 ตัว หากเรากำหนดความเสี่ยงไว้ตัวละ 2% แต่ถ้าอยากซื้อมากกว่า 3 ตัวหละ เพื่อนๆ ก็ต้องลดความเสี่ยงของแต่ละตัวลงมานั่นเอง สมมติว่า เราซื้อหุ้นเข้ามาแล้ว 3 ตัว กำหนดความเสี่ยงไว้ตัวละ 2% รวมเป็น 6% ของเงินทุนรวม หากเพื่อนๆ เกิดสนใจหุ้นตัวที่ 4 ก็อาจจะลดจำนวนหุ้นตัวใดตัวหนึ่งใน 3 ตัวแรกลง เพื่อให้ความเสี่ยงโดยรวมลดลง และมีความเสี่ยงเหลือพอจะให้เราเข้าไปซื้อตัวใหม่เพิ่มได้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ วินัยในการทำตามกฎที่เราตั้งขึ้นมาแล้วให้ได้ 

การเลือกลงทุนตามวัฏจักรเศรษฐกิจ

เราทุกคนก็คงรู้กันอยู่แล้วว่าวงจรภาวะเศรษฐกิจมีทั้งขึ้นและลง ซึ่งสามารถแบ่งเป็นช่วงคร่าวๆ ได้เป็น 4 ช่วง คือ 1) ระยะถดถอย 2) ระยะตกต่ำ 3) ระยะฟื้นตัว 4) ระยะเฟื่องฟู และก็จะกลับมาเป็นระยะถดถอยอีกครั้ง แต่ทราบกันหรือไม่ว่าการเลือกสินทรัพย์การลงทุนที่เหมาะสม ตามภาวะเศรษฐกิจ สามารถเพิ่มผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ เราไปดูกันเลยคร้าบบ


เศรษฐกิจระยะถดถอยสังเกตได้อย่างไร?
- เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณการชะลอการขยายตัว สามารถสังเกตเห็นได้ผ่านตัวเลขทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(หรืออีกชื่อคือ GDP Growth) ที่ติดลบต่อเนื่องมากกว่า 2 ไตรมาส เป็นต้น
- เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่าช่วงที่ผ่านมาอย่างมีนัยยะสำคัญ
- ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้น - ตัวเลขการผลิตและจ้างงานเริ่มลดลง
- การเติบโตของกำไรของธุรกิจโดยรวมเริ่มชะลอตัวลง หรือเริ่มเห็นสัญญาณลดลง 


การลงทุนในช่วงเศรษฐกิจระยะถดถอย
- ลดสัดส่วนการลงทุนใน “หุ้น” เนื่องจากกำไรของบริษัทเริ่มค่อยๆลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ
- ลดสัดส่วนการลงทุน “ตราสารหนี้ระยะยาว” เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะสูง ตามภาวะเงินเฟ้อที่สูง ทำให้มูลค่าของตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวต่ำลง นอกจากนี้ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้มีแนวโน้มลดลง ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว โดยเฉพาะที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งค่อนข้างต่ำ มีความเสี่ยงมากขึ้น
- เพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน “เงินฝาก” หรือ “ตราหนี้ระยะสั้น” หรือ ”ตราสารตลาดเงิน” ที่มีระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 


เศรษฐกิจระยะตกต่ำสังเกตได้อย่างไร?
- เป็นช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างเต็มตัว
- GDP Growth หดตัว จนทำจุดต่ำสุดใหม่ และมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน
- เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลดลง
- ถ้าดูตัวเลขสินค้าคงคลังของหลายๆธุรกิจ จะเห็นตัวเลขสินค้าค้างสต็อกเป็นจำนวนมาก สวนทางกับตัวเลขยอดขายที่ลดลง
- ผู้ประกอบการลดอัตราการผลิตลง (เช่น ลดอัตรากำลังการผลิตของเครื่องจักรลง ลดจำนวนชั่วโมงโอที เป็นต้น)
- ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มเข้ามามีบทบาทโดย จะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 


การลงทุนในช่วงเศรษฐกิจระยะตกต่ำ
- ผลตอบแทนของหุ้นอาจจะยังไม่ดีขึ้นมากจากช่วงระยะถดถอย ยังคงแนะนำให้ลดสัดส่วนหุ้นในพอร์ตลง ถ้าจะลงทุนจำเป็นต้องเลือกอย่างระมัดระวังมากๆ โดยแนะนำหุ้นที่มีราคาไม่แพง และกิจการควรมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ เช่น หุ้น สาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา) หรือหุ้นประกอบธุรกิจที่คนยังต้องใช้สินค้าหรือบริการแม้ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี อย่างเช่นหุ้นโรงพยาบาล หุ้นเดินทางขนส่งสาธารณะ เป็นต้น
- เพิ่มสัดส่วนการลงทุน “ตราสารหนี้ระยะยาว” เนื่องจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้มูลค่าของตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มสูงขึ้น (ราคาตราสารหนี้ระยะยาวจะวิ่งสวนทางกับอัตราดอกเบี้ย) โดยควรเลือกตัวที่มีอัตราเครดิตเรตติ้งที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงที่บริษัทที่ออกตราสารจะล้มละลาย 


เศรษฐกิจระยะฟื้นตัวสังเกตได้อย่างไร?
- เป็นช่วงหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ระยะหนึ่ง เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังจากเผชิญภาวะตกต่ำถึงขีดสุด อัตราดอกเบี้ยยังอยู่นระดับต่ำ
- GDP Growth เริ่มส่งสัญญาฟื้นตัว โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน แต่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ
- เนื่องจากสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กระตุ้นให้ผู้ประกอบการสนใจที่จะลงทุนมากขึ้น ทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น การจ้างงานสูงขึ้น และประชาชนมีรายได้ดีขึ้น
- ยอดขายโดยภาพรวมเริ่มเติบโต และสินค้าที่เหลือค้างสต็อกค่อยๆ ทยอยขายออก ตัวเลขสินค้าคงเหลือเริ่มลดลงจากฐานที่สูง ตัวเลขผลประกอบการของบริษัทมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น 


การลงทุนในช่วงเศรษฐกิจระยะฟื้นตัว
- เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน “หุ้น” เพราะต้นทุนเงินทุนที่ลดลง จะส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทต่างๆเริ่มปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลต่อราคาของหุ้นในที่สุด กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจในช่วงนี้คือ กลุ่มธนาคาร กลุ่มการเงิน กลุ่มพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นต้น
- ด้านการลงทุนในตราสารหนี้สามารถลงทุนในตราสารระยะกลาง แต่ไม่ควรลงในระยะยาวมาก เพราะช่วงอัตราดอกเบี้ยสู่จุดต่ำสุดจะเป็นช่วงที่ตลาดเริ่มมีการคาดการณ์โอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตหากเศรษฐกิจฟื้นตัว (ดอกเบี้ยขึ้น มูลค่าของตราสารหนี้จะลดลง ยิ่งระยะการลงทุนของตราสารยิ่งยาวยิ่งมีผลกระทบมาก) สามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งที่อันดับต่ำลงมาได้ เพราะกิจการมีความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ได้ดีขึ้นในช่วงนี้ 


เศรษฐกิจระยะเฟื่องฟูสังเกตได้อย่างไร?
- เศรษฐกิจผ่านจากช่วงฟื้นตัว การเติบโตของGDPจะเริ่มช้าลงจากไตรมาสก่อนหน้า หลังจากมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- การผลิตอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับระดับการจ้างงาน แต่การเติบโตค่อนข้างทรงตัว
- ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
- ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มเข้ามามีบทบาทโดย จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ 


การลงทุนในช่วงเศรษฐกิจระยะเฟื่องฟู เน้นลงทุนใน สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ อาหาร และน้ำมัน เพราะราคาปรับตัวดีขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจที่ทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น หุ้นที่เกี่ยวกับโภคภัณฑ์ก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน
- การลงทุนในหุ้นอาจจะลดความน่าสนใจลง (ยกเว้นหุ้นโภคภัณฑ์) เพราะในช่วงเวลานี้ ดอกเบี้ยจะค่อยๆขยับสูงขึ้นซึ่งส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจค่อยๆปรับตัวสูงขึ้น กำไรของกิจการจึงลดลงลง ราคาหุ้นจึงมีโอกาสปรับตัวลดลงบ้าง ดอกเบี้ยตลาดและเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงจากการลงทุนตราสารหนี้ลดลง ราคาตราสารหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีโอกาสปรับตัวลดลง
ก่อนจบกันไปสตางค์คุงขอแนะนำว่า การลงทุนตามวัฐจักรเศรษฐกิจเป็นเพียงแนวทางนึงในการลงทุน ซึ่งจำเป็นต้องสังเกตองค์ประกอบหลายๆอย่างประกอบด้วยเช่น การลงทุนในหุ้นสาธารณูปโภค หรือหุ้นที่มีกระแสเงินสดแข็งแกร่งอย่างโรงพยาบาลอาจเป็นตัวเลือกที่ดีในช่วงเศรษฐกิจระยะตกต่ำ แต่หุ้นโรงพยาบาลบางตัวอาจมีราคาแพงมากจนไม่เหมาะสมที่จะลงทุนในระยะยาว อาจต้องศึกษาเรื่องมูลค่าหุ้นที่จะเข้าลงทุนประกอบด้วยเป็นต้น 
ศัพท์หุ้นควรรู้ (vol.3)

สวัสดีคร้าบบ วันนี้สตางค์คุงขอนำเสนอศัพท์ใหม่ อีก 5 คำศัพท์ เป็นคำศัพท์คุ้นๆแสนง่าย แต่ดันมาทำให้เรางงได้ซะนี่ แต่รับรองนะครับว่าพอเพื่อนๆ รู้ความหมายของคำเหล่านี้แล้ว ก็คงร้องอ๋อไปตามๆกัน ไปดูกันเลยครับว่ามีคำศัพท์อะไรบ้างในวันนี้


" คัท หรือ cut loss " ความหมายก็คือ การตัดขาดทุน ยอมเจ็บแต่ไม่ยอมตาย ยกตัวอย่างเช่น หากเราวางแผนว่าจะคัทเมื่อราคาลดลงไป 5% และเมื่อเวลาผ่านไปหุ้นตัวที่เราถืออยู่นั้นราคาต่ำกว่าที่เราซื้อ 5% เราก็จะขายเพื่อไม่ให้ขาดทุนไปมากกว่านี้นั่นเอง 


" เด้ง " ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ป๊อกเด้งนะครับ แต่จะว่าไปก็ใกล้เคียง โดยคำว่า เด้ง หมายถึง การที่เราได้กำไรเท่าตัว หรือ 5 เด้ง 10 เด้ง ก็คูณกันเข้าไป เช่น ซื้อหุ้น 10 บาท ราคาหุ้นขึ้นไปอยู่ที่ 20 บาท ได้กำไร 10 บาท คือได้เท่าตัวนั่นเอง หรือได้กำไร 1 เด้ง แต่ถ้าหาก หุ้นตัวนั้นราคาสูงขึ้นไปเป็น 50 บาท จากต้นทุน 10 บาท เราก็จะได้กำไร 5 เด้ง หรือ 5 เท่านั้นเอง 


" ไม้ " หมายถึง การนับครั้งในการซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง เช่น ในพอร์ตของเรา เมื่อมีเงินอยู่100 เปอร์เซ็นต์ แบ่งซื้อไปครั้งแรก 20 เปอร์เซนต์ เราจะเรียกว่าหนึ่งไม้ หรือ ไม้แรก หรือ ไม้หนึ่ง และถ้าหากเราซื้อครั้งที่2 อีก 10เปอร์เซนต์ของเงินที่มีพอร์ต ก็จะเรียกว่าไม้สองและไม้สามตามมา จนสุดท้ายที่เราซื้อหุ้นจนเงินหมดพอร์ต ก็จะเรียกว่าไม้สุดท้าย ไงละครับ


"ช้อน" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงช้อนกินข้าวนะครับ แต่มันคือ อากัปกิริยาประเภทหนึ่งที่มักเกิดขึ้นเมื่อราคาหุ้นปักหัวลง และราคาต่ำลงจนเราคิดว่า ราคามันจะไม่ลงไปมากกว่านี้แล้ว ทำให้เราตัดสินใจเข้าไปซื้อหุ้นหรือช้อนหุ้นนั่นเองครับ เพราะเราคิดว่านี่น่าจะเป็นราคาที่ต่ำสุดแล้ว ช้อนตอนนี้ได้ราคาถูกแน่ๆ แต่ปัญหาคือส่วนใหญ่มักจะไม่เป็นอย่างที่คิดครับ 


"ช้อนหัก" คือ การที่เราเข้าซื้อหุ้นในช่วงที่ราคาหุ้นต่ำลง แล้วราคาหุ้นไม่วิ่งขึ้นอย่างที่เราคิด แต่กลับวิ่งต่ำลงไปกว่าเดิมจนทำให้เราขาดทุน เช่น เมื่อเราซื้อหุ้น A ที่ราคา 10 บาท จากอดีต 15 บาท โดยที่เราคิดว่าราคาหุ้นคงไม่ต่ำไปกว่านี้แล้ว แต่ราคากลับวิ่งลงไปที่ 8 บาท ทำให้เราขาดทุนอย่างที่เห็น ดังนั้นก่อนจะลงทุนก็อย่าลืมศึกษาข้อมูล และวางแผนก่อนการลงทุนกันทุกครั้งนะครับ 
ตรวจสุขภาพหุ้นด้วย อัตราส่วนทางการเงิน

สตางค์คุงเชื่อว่า การจะซื้อหุ้นสักตัวนั้นไม่ยาก เพราะในตลาดมีหุ้นอยู่มากมาย แต่การจะซื้อหุ้นที่ดีสักตัว เพื่อนๆ คงจะต้องเลือกให้มากขึ้น วันนี้ผมเลยอยากจะลองแนะนำแนวทางสำหรับคัดกรองหุ้นในเบื้องต้น เหมือนกับการตรวจเช็คสุขภาพในเบื้องต้น เพื่อคัดเอาหุ้นที่แข็งแรงท่ามกลางหุ้นหลายร้อยตัวในตลาด ซึ่งแนวทางที่สตางค์คุงมักจะใช้คัดกรองในเบื้องต้นนี้ชื่อว่า ‘อัตราส่วนทางการเงิน’ จริงๆ แล้ว อัตราส่วนทางการเงิน ก็มีอยู่เยอะอีกเช่นกัน แต่ในที่นี้สตางค์คุงอยากจะเลือกแนะนำเฉพาะส่วนที่คิดว่ามีประโยชน์และใช้งานได้ง่าย ซึ่งเพื่อนๆ สามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้จากหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ หรืองบการเงินที่บริษัทเปิดเผยออกมา


“Price to Earnings Ratio (P/E) หรือ ราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น” 
น่าจะเป็นอัตราส่วนที่เพื่อนๆ น่าจะรู้จักและคุ้นหูกันเป็นอย่างดี โดยเจ้า P/E นี้เกิดจากการนำ ‘ราคาหุ้น (P) หารด้วย กำไรต่อหุ้น (E)’ ซึ่งตามหลักการทั่วไปแล้ว ค่า P/E ที่ต่ำกว่าจะถูกมองว่ามีความคุ้มค่ามากกว่าในการลงทุน แต่ทั้งนี้ การเปรียบเทียบโดยใช้ค่า P/E ควรจะเปรียบเทียบระหว่างหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การมองหาแต่หุ้นที่มีค่า P/E ต่ำๆ เพียงอย่างเดียว อาจจะทำให้เพื่อนๆ พลาดโอกาสในหุ้นกลุ่มเติบโต หรือหุ้นที่กำลังฟื้นตัวไปได้เช่นกัน เพราะกลุ่มหุ้นเหล่านี้ มักจะมีค่า P/E ในปัจจุบันที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมไปมาก แต่ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะหุ้นเหล่านี้กำลังจะมีการเติบโตสูงตามมาในอนาคต


“PEG Ratio” 
เป็นอัตราส่วนที่ช่วยให้ขยายค่า P/E ให้เห็นภาพไปในอนาคตมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการนำ ‘ค่า P/E ในปัจจุบัน หารด้วย คาดการณ์การเติบโตของกำไรต่อหุ้น (G)’ ซึ่งหลักทั่วไปของการนำไปใช้คือ หุ้นที่มีค่า PEG ต่ำกว่า 1 จะถูกมองว่าเป็นหุ้นที่คุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ทั้งนี้ การนำค่า PEG มาใช้อาจจะต้องระมัดระวังในเรื่องของการคาดการณ์การเติบโต ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่แน่นอน หากเรามองการเติบโตสูงเกินไป ราคาหุ้นที่เหมาะสมก็อาจจะเพี้ยนไปได้เช่นกัน


“Dividend Yield หรือ อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล” 
เป็นสิ่งที่ช่วยให้เพื่อนๆ พอจะเห็นภาพว่าหากเราถือหุ้นตัวนั้นๆ ไว้ ในแต่ละปีจะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุน โดย Dividend Yield เกิดจากการนำ ‘เงินปันผลต่อหุ้น หารด้วย ราคาหุ้น’ ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ อย่างเช่น เราซื้อหุ้น A ราคา 5 บาท ได้เงินปันผล 0.25 บาทต่อหุ้น เพราะฉะนั้น เราจะได้รับเงินปันผล 0.25÷5 = 5% ส่วนผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลที่ควรคาดหวัง ก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน ซึ่งโดยส่วนมากแล้วมักจะกล่าวกันว่า ควรจะมากกว่าผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นอย่างน้อย


“Return on Equity (ROE) หรือ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น” 
เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรของหุ้นนั้นๆ เมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น โดยสูตรที่ใช้คำนวณเกิดจาก ‘กำไรต่อหุ้น หารด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น’ ซึ่งค่า ROE นี้ หากยิ่งสูงจะยิ่งบ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการทำกำไรที่ดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว นักลงทุนมักจะมองหาหุ้นที่มีค่า ROE อย่างน้อย 15-20% ขึ้นไป


“Debt to Equity Ratio (D/E) หรืออัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น” 
เกิดจากการนำ ‘หนี้สินรวม หารด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น’ ซึ่งค่าที่ออกมานั้น ยิ่งต่ำจะยิ่งดี นอกจากจะเป็นการบ่งบอกว่าหุ้นนั้นๆ มีภาระหนี้น้อยแล้ว หากมองในแง่การระดมทุนเมื่อจำเป็นต้องลงทุน หรือมีโอกาสเข้ามา หุ้นเหล่านี้จะมีความสามารถในการขยายกิจการได้มากกว่าด้วย ทั้งนี้ ในภาวะปกติที่บริษัทยังไม่ได้ขยายการลงทุนมาก ค่า D/E ก็อาจจะไม่เกิน 1 เท่า หรือต่ำกว่านี้


“Current Ratio หรือ อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงิน” 
หาได้จากการนำ ‘สินทรัพย์หมุนเวียน หารด้วย หนี้สินหมุนเวียน’ โดยค่าที่ได้ออกมานั้น ควรจะมากกว่า 1.5 เท่า หรือยิ่งมากจะยิ่งดี ซึ่งในส่วนนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทมีสภาพคล่องสูง


“Net Profit Margin หรือ อัตรากำไรสุทธิ” 
เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพในการทำกำไรของบริษัท ยิ่งอัตรากำไรสุทธิสูง แปลว่าบริษัทสามารถเปลี่ยนรายได้มาเป็นกำไรได้มาก โดยอัตราส่วนนี้หาได้จาก ‘กำไรสุทธิ หารด้วย ยอดขายรวม’ นอกจากนี้ การที่บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิสูง ยังเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องกำไรเอาไว้ในภาวะที่ไม่ปกติ อาทิ เศรษฐกิจฝืด การปรับโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งอาจจะทำให้ยอดขายลดลง หรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าย่อมกระทบต่อภาพรวม แต่กับบริษัทที่มีส่วนเผื่อตรงนี้ จะช่วยให้บริษัทยังทำกำไรได้ แม้จะเป็นกำไรที่ลดลง

ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ สตางค์คุงหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ชาว SBI Thai Online ไม่มากก็น้อย และมากไปกว่านั้น สตางค์คุงอยากจะให้เพื่อนๆ ลองใช้ข้อมูลนี้เป็นแนวทาง เพื่อที่จะได้นำไปศึกษาต่อ เพราะธรรมชาติของหุ้นแต่ละตัว แต่ละอุตสาหกรรมก็ย่อมแตกต่างกันออกไป ยิ่งเรามีความรู้ลึกลงไปมากขึ้น และเข้าใจเครื่องมือที่เราใช้อย่างแท้จริง สตางค์คุงเชื่อว่าจะช่วยให้เพื่อนๆ ประสบความสำเร็จในการลงทุนได้อย่างแน่นอน
5 แนวทางกระจายการลงทุน ลดความเสี่ยง




ในภาวะตลาดโดยทั่วๆ ไป ย่อมมีหุ้นที่ขึ้นและหุ้นที่ลงปะปนกันไปในแต่ละวัน แน่นอนว่าทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง อย่างที่เพื่อนๆ ทราบกันดีอยู่แล้ว ฉะนั้น หากเราทุ่มเงินทุนทั้งหมดไปกับการซื้อหุ้นตัวเดียว ก็จะยิ่งเป็นการแบกรับความเสี่ยงเอาไว้เต็มที่ (ทั้งความเสี่ยงที่เป็นระบบ ซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมโดยรวม เราไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ อัตราดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อ และความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะกิจการ หรืออุตสาหกรรมหนึ่งๆ อาทิ ความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงในการบริหาร) เมื่อเป็นเช่นนี้ การกระจายเงินลงทุนของเราไปยังหุ้นหลายๆ ตัว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบลงได้ส่วนหนึ่ง เพราะหากหุ้นตัวหนึ่งที่เราเลือกซื้อเกิดไม่เป็นไปอย่างที่คาด เราก็ยังสามารถคาดหวังผลตอบแทนจากหุ้นตัวอื่นที่ถืออยู่ได้ ขณะเดียวกันความเสียหายจากหุ้นเพียงตัวเดียว เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อเงินทุนรวมทั้งหมด ก็จะสัดส่วนที่ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม การกระจายการลงทุนที่มากเกินไปก็อาจจะส่งผลเสียได้เช่นกัน โดยทั่วไปแล้ว มักจะมีการแนะนำว่าควรกระจายการลงทุนไปยังหุ้นไม่เกิน 4-5 ตัว หากมากกว่านี้จะทำให้เราไม่สามารถติดตาม ดูแล ได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันยังเป็นการฉุดให้ผลตอบแทนของหุ้นที่ดีต่ำลงไปด้วย เพราะเงินทุนที่จัดสรรลงไปนั้นน้อยเกินไป และทำให้การเติบโตของพอร์ทยากขึ้น


เป็นเหมือนการมองต่อยอดมาจากการกระจายในหุ้นรายตัว บางครั้งเราอาจจะซื้อหุ้นหลายตัวจริง แต่หุ้นทุกตัวกลับอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่างเช่น เรามี PTT อยู่แล้ว เราเลือกจะกระจายการลงทุนไปยัง PTTEP TOP และ BCP ซึ่งล้วนแต่เป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงาน และได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันทั้งสิ้น ฉะนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันขึ้น ก็มีโอกาสที่หุ้นเหล่านี้จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันได้ เท่ากับว่าความเสี่ยงที่เราแบกรับในหุ้นแต่ละตัวก็ยังคงใกล้เคียงกัน ดังนั้น อุตสาหกรรมที่หุ้นแต่ละตัวทำธุรกิจอยู่ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญเช่นกัน 


สำหรับเพื่อนๆ บางคนที่อาจจะไม่ได้มีเวลาเฝ้าติดตามหุ้นมากนัก หรืออาจจะเลือกลงทุนในลักษณะคล้ายการออม อย่างการลงทุนในรูปแบบของ Dollar-cost average หรือ DCA ซึ่งเป็นการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน ช่วยให้ความเสี่ยงในเรื่องของช่วงเวลาลดลงไปได้ เพราะการลงทุนในรูปแบบนี้จะไม่ได้สนใจระดับราคาในแต่ละช่วงเวลา แต่จะทยอยลงทุนเท่าๆ กันในแต่ละงวดไปเรื่อยๆ 


เพื่อนๆ อาจจะมอง ‘แหล่งลงทุน’ ทั้งในรูปแบบของพื้นที่ หรือสินทรัพย์ หากมองในรูปแบบของพื้นที่ลงทุนนั้น เราอาจจะเลือกจัดสรรเงินของเราเพื่อลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยกระจายโอกาส และลดความเสี่ยงลงมาได้ เพราะการลงทุนในทุกวันนี้ได้รับอิทธิพลจากการไหลของเงิน (Fund flow) พอสมควร สมมติว่า เงินลงทุนย้ายจากภูมิภาคเอเชีย กลับไปยุโรป ตลาดทุนในประเทศไทย ก็อาจจะชะลอลง เมื่อเทียบกับยุโรปได้ ในอีกมุมหนึ่ง การมองแหล่งลงทุนในรูปแบบของสินทรัพย์นั้น เพื่อนๆ อาจจะกระจายความเสี่ยงโดยการกระจายการลงทุนไปยังหลายๆ รูปแบบ อาทิ ตราสารหนี้ เงินฝาก ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ โดยหลักการกระจายความเสี่ยงในเบื้องต้น คือการกระจายน้ำหนักการลงทุนตามที่เรายอมรับได้ สมมติว่า เรารับความเสี่ยงได้สูง สัดส่วนการลงทุนในตลาดทุนก็อาจจะสูงหน่อย กลับกันหากเรารับความเสี่ยงได้ต่ำ เราอาจจะเน้นไปที่ตราสารหนี้ หรืออสังหาริมทรัพย์ ในสัดส่วนที่มากกว่า เป็นต้น


กลยุทธ์การลงทุนที่ดีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จจากการลงทุนมากขึ้น มาดูตัวอย่างกลยุทธ์การลงทุนที่น่าสนใจในหน้าต่อไปได้เลยครับ 


กลยุทธ์ Trend Following ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและยาวนานควบคู่กับการลงทุนจนถึงปัจจุบัน โดยกลยุทธ์นี้จะเน้นการลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์ใดๆ ที่ก่อตัวขึ้นมาเป็นแนวโน้ม(Trend) ให้เห็นอย่างชัด หลังจากนั้นก็จะถือการลงทุนนั้นๆ ไปจนกว่าจะมีสัญญาณหรือสิ่งที่บ่งชี้ว่าแนวโน้มนั้นได้จบลงไปแล้ว 


กลยุทธ์ Buy and hold เป็นกลยุทธ์ที่มุ่งการเลือกซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์สักอย่างหนึ่ง และถือสินทรัพย์นั้นเอาไว้ในระยะยาว ซึ่งแนวคิดของกลยุทธ์นี้เชื่อว่าตลาดสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว หากเราซื้อสินทรัพย์นั้นๆ เข้ามาด้วยราคาที่สมเหตุสมผล โดยผี้ที่ใช้กลยุทธ์นี้จะมองข้ามความผันผวนในระยะสั้น และไม่ได้สนใจกับการจับจังหวะของตลาดมากนัก 


กลยุทธ์ Swing trading เป็นลักษณะของการจับจังหวะตลาดซึ่งตามธรรมชาติแล้วจะมีการแกว่งตัวขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในยามที่ตลาดวิ่งอยู่ในกรอบ ซึ่งกลยุทธ์นี้จะเน้นการเข้าไปซื้อเมื่อราคาย่อตัวลงมาอยู่ในบริเวณกรอบล่าง และขายออกเมื่อราคาขึ้นไปชวนกรอบบน หรือแม้แต่ในตลาดที่เป็นแนวโน้ม กลยุทธ์นี้ก็สามารถทำได้โดยการเข้าซื้อเมื่อราคาย่อตัว และขายออกไปเมื่อราคาทะลุขึ้นไปสูงกว่าเดิม 



กลยุทธ์ Contrarian เป็นกลยุทธ์ที่เน้นการมองหาภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นในตลาด ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เกิดจากความต้องการ ซื้อ หรือ ขาย ที่มากเกินกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น ทำให้คนส่วนใหญ่แห่ไปในทิศทางนั้นแบบไม่สมเหตุสมผล ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดสำหรับกลยุทธ์นี้คือ แนวคิดการลงทุนในภาพยนตร์เรื่อง Big short ที่สร้างมาจากเรื่องจริงของ วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ เมื่อปี 2008
แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีกลยุทธ์ใดจะสามารถเป็นผู้ชนะได้ในทุกๆ สภาวะตลาด เพราะแต่ละกลยุทธ์ย่อมมีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันไป ฉะนั้นการกระจายความเสี่ยงด้วยกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย ก็จะช่วยให้เพื่อนๆ ลดความเสี่ยงลงไปได้ อย่างกลยุทธ์ซื้อตามแนวโน้ม อาจจะใช้ได้ดีในยามที่ตลาดมีแนวโน้มชัดเจน กลับกันหากตลาดแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ กลยุทธ์นี้ก็อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก ฉะนั้นการที่เพื่อนๆ พัฒนากลยุทธ์ขึ้นมาหลากหลาย และจัดสรรเงินลงทุนไปในแต่ละรูปแบบ ก็สามารถลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรูปแบบเดียวได้ โดยเฉพาะในยามที่ตลาดไม่เอื้ออำนวยในแบบที่เราหวังไว้ 
 
คำนวณค่าคอมมิชชั่น