เราทุกคนก็คงรู้กันอยู่แล้วว่าวงจรภาวะเศรษฐกิจมีทั้งขึ้นและลง ซึ่งสามารถแบ่งเป็นช่วงคร่าวๆ ได้เป็น 4 ช่วง คือ 1) ระยะถดถอย 2) ระยะตกต่ำ 3) ระยะฟื้นตัว 4) ระยะเฟื่องฟู และก็จะกลับมาเป็นระยะถดถอยอีกครั้ง แต่ทราบกันหรือไม่ว่าการเลือกสินทรัพย์การลงทุนที่เหมาะสม ตามภาวะเศรษฐกิจ สามารถเพิ่มผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ เราไปดูกันเลยคร้าบบ
เศรษฐกิจระยะถดถอยสังเกตได้อย่างไร?
- เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณการชะลอการขยายตัว สามารถสังเกตเห็นได้ผ่านตัวเลขทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(หรืออีกชื่อคือ GDP Growth) ที่ติดลบต่อเนื่องมากกว่า 2 ไตรมาส เป็นต้น
- เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่าช่วงที่ผ่านมาอย่างมีนัยยะสำคัญ
- ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้น - ตัวเลขการผลิตและจ้างงานเริ่มลดลง
- การเติบโตของกำไรของธุรกิจโดยรวมเริ่มชะลอตัวลง หรือเริ่มเห็นสัญญาณลดลง
การลงทุนในช่วงเศรษฐกิจระยะถดถอย
- ลดสัดส่วนการลงทุนใน “หุ้น” เนื่องจากกำไรของบริษัทเริ่มค่อยๆลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ
- ลดสัดส่วนการลงทุน “ตราสารหนี้ระยะยาว” เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะสูง ตามภาวะเงินเฟ้อที่สูง ทำให้มูลค่าของตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวต่ำลง นอกจากนี้ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้มีแนวโน้มลดลง ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว โดยเฉพาะที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งค่อนข้างต่ำ มีความเสี่ยงมากขึ้น
- เพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน “เงินฝาก” หรือ “ตราหนี้ระยะสั้น” หรือ ”ตราสารตลาดเงิน” ที่มีระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
เศรษฐกิจระยะตกต่ำสังเกตได้อย่างไร?
- เป็นช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างเต็มตัว
- GDP Growth หดตัว จนทำจุดต่ำสุดใหม่ และมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน
- เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลดลง
- ถ้าดูตัวเลขสินค้าคงคลังของหลายๆธุรกิจ จะเห็นตัวเลขสินค้าค้างสต็อกเป็นจำนวนมาก สวนทางกับตัวเลขยอดขายที่ลดลง
- ผู้ประกอบการลดอัตราการผลิตลง (เช่น ลดอัตรากำลังการผลิตของเครื่องจักรลง ลดจำนวนชั่วโมงโอที เป็นต้น)
- ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มเข้ามามีบทบาทโดย จะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
การลงทุนในช่วงเศรษฐกิจระยะตกต่ำ
- ผลตอบแทนของหุ้นอาจจะยังไม่ดีขึ้นมากจากช่วงระยะถดถอย ยังคงแนะนำให้ลดสัดส่วนหุ้นในพอร์ตลง ถ้าจะลงทุนจำเป็นต้องเลือกอย่างระมัดระวังมากๆ โดยแนะนำหุ้นที่มีราคาไม่แพง และกิจการควรมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ เช่น หุ้น สาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา) หรือหุ้นประกอบธุรกิจที่คนยังต้องใช้สินค้าหรือบริการแม้ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี อย่างเช่นหุ้นโรงพยาบาล หุ้นเดินทางขนส่งสาธารณะ เป็นต้น
- เพิ่มสัดส่วนการลงทุน “ตราสารหนี้ระยะยาว” เนื่องจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้มูลค่าของตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มสูงขึ้น (ราคาตราสารหนี้ระยะยาวจะวิ่งสวนทางกับอัตราดอกเบี้ย) โดยควรเลือกตัวที่มีอัตราเครดิตเรตติ้งที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงที่บริษัทที่ออกตราสารจะล้มละลาย
เศรษฐกิจระยะฟื้นตัวสังเกตได้อย่างไร?
- เป็นช่วงหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ระยะหนึ่ง เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังจากเผชิญภาวะตกต่ำถึงขีดสุด อัตราดอกเบี้ยยังอยู่นระดับต่ำ
- GDP Growth เริ่มส่งสัญญาฟื้นตัว โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน แต่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ
- เนื่องจากสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กระตุ้นให้ผู้ประกอบการสนใจที่จะลงทุนมากขึ้น ทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น การจ้างงานสูงขึ้น และประชาชนมีรายได้ดีขึ้น
- ยอดขายโดยภาพรวมเริ่มเติบโต และสินค้าที่เหลือค้างสต็อกค่อยๆ ทยอยขายออก ตัวเลขสินค้าคงเหลือเริ่มลดลงจากฐานที่สูง ตัวเลขผลประกอบการของบริษัทมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น
การลงทุนในช่วงเศรษฐกิจระยะฟื้นตัว
- เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน “หุ้น” เพราะต้นทุนเงินทุนที่ลดลง จะส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทต่างๆเริ่มปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลต่อราคาของหุ้นในที่สุด กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจในช่วงนี้คือ กลุ่มธนาคาร กลุ่มการเงิน กลุ่มพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นต้น
- ด้านการลงทุนในตราสารหนี้สามารถลงทุนในตราสารระยะกลาง แต่ไม่ควรลงในระยะยาวมาก เพราะช่วงอัตราดอกเบี้ยสู่จุดต่ำสุดจะเป็นช่วงที่ตลาดเริ่มมีการคาดการณ์โอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตหากเศรษฐกิจฟื้นตัว (ดอกเบี้ยขึ้น มูลค่าของตราสารหนี้จะลดลง ยิ่งระยะการลงทุนของตราสารยิ่งยาวยิ่งมีผลกระทบมาก) สามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งที่อันดับต่ำลงมาได้ เพราะกิจการมีความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ได้ดีขึ้นในช่วงนี้
เศรษฐกิจระยะเฟื่องฟูสังเกตได้อย่างไร?
- เศรษฐกิจผ่านจากช่วงฟื้นตัว การเติบโตของGDPจะเริ่มช้าลงจากไตรมาสก่อนหน้า หลังจากมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- การผลิตอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับระดับการจ้างงาน แต่การเติบโตค่อนข้างทรงตัว
- ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
- ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มเข้ามามีบทบาทโดย จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
การลงทุนในช่วงเศรษฐกิจระยะเฟื่องฟู เน้นลงทุนใน สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ อาหาร และน้ำมัน เพราะราคาปรับตัวดีขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจที่ทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น หุ้นที่เกี่ยวกับโภคภัณฑ์ก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน
- การลงทุนในหุ้นอาจจะลดความน่าสนใจลง (ยกเว้นหุ้นโภคภัณฑ์) เพราะในช่วงเวลานี้ ดอกเบี้ยจะค่อยๆขยับสูงขึ้นซึ่งส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจค่อยๆปรับตัวสูงขึ้น กำไรของกิจการจึงลดลงลง ราคาหุ้นจึงมีโอกาสปรับตัวลดลงบ้าง ดอกเบี้ยตลาดและเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงจากการลงทุนตราสารหนี้ลดลง ราคาตราสารหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีโอกาสปรับตัวลดลง
ก่อนจบกันไปสตางค์คุงขอแนะนำว่า การลงทุนตามวัฐจักรเศรษฐกิจเป็นเพียงแนวทางนึงในการลงทุน ซึ่งจำเป็นต้องสังเกตองค์ประกอบหลายๆอย่างประกอบด้วยเช่น การลงทุนในหุ้นสาธารณูปโภค หรือหุ้นที่มีกระแสเงินสดแข็งแกร่งอย่างโรงพยาบาลอาจเป็นตัวเลือกที่ดีในช่วงเศรษฐกิจระยะตกต่ำ แต่หุ้นโรงพยาบาลบางตัวอาจมีราคาแพงมากจนไม่เหมาะสมที่จะลงทุนในระยะยาว อาจต้องศึกษาเรื่องมูลค่าหุ้นที่จะเข้าลงทุนประกอบด้วยเป็นต้น